เน้นสร้างเอกลักษณ์หมอนที่นอนยางพาราไทยสไตล์ล้านนา

แม้ว่าความต้องการหมอนยางพาราจะสูงขนาดไหน แต่วันนี้กำลังการผลิตหมอนยางจากโรงงานในประเทศไทย ก็ยังมีจำนวนไม่มาก และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ที่ยังมีความเชื่อมั่นในคุณภาพหมอนยางจากประเทศไทยอย่างมาก

และในปัจจุบัน มีธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพียงไม่กี่ประเภทที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงและลงทุนได้ และมีน้อยรายมากที่เกษตรกรจะมีศักยภาพด้านการผลิตและการแข่งขัน หนึ่งในนั้นก็คือ หมอนและที่นอนยางพารา ทั้งนี้เพราะธุรกิจดังกล่าว มีขั้นตอนการผลิตที่ไม่ยากและซับซ้อนมากนัก ใช้น้ำยางสด และน้ำยางข้น เป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็น ทุนพื้นฐาน ของกลุ่มเกษตรกร และเมื่อได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากโครงการของรัฐบาล พร้อมๆ กับรับองค์ความรู้จากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญของรัฐ ธุรกิจนี้จึงเติบโตและขยายสู่กลุ่มเกษตรกรอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกันกับ เกวลิน อุ่นแสง เกษตรกรชาวสวนยางพารา และนักธุรกิจสาวรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมยางพารา จ.เชียงใหม่ ที่ได้สร้างแบรนด์ล้านนา เนเชอร์รอล ลาเทคซ์ (Lanna Natural Latex) ของผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราจนประสบความสำเร็จในช่วงระยะเวลาเพียงไม่นาน แต่กว่าจะถึงวันนี้ได้…ไม่ง่ายเลย เราลองมาศึกษาและรู้จักเธอให้มากขึ้นจากบทสัมภาษณ์กันเลยดีกว่า

ทำไมถึงเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ มีแรงบันดาลใจอะไร

เกวลิน เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวได้ทำอาชีพชาวสวนยางปลูกยางพารา เมื่อปี 2548 ตามโครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงจำนวน 20 ไร่ และได้รับการคัดเลือกจากการยางแห่งประเทศไทย จ.เชียงใหม่ (สกย.จ.เชียงใหม่ในขณะนั้น)ให้เป็นครูยาง ด้วยความมุ่งมั่นว่า อาชีพชาวสวนยางพาราเป็นอาชีพที่มั่นคงและสร้างรายได้ที่ดี แต่พอได้กรีดยางจริง ราคายางมีแต่ตกต่ำ เกษตรกรโดนพ่อค้ากดราคา จนต้องมาคิดหาคำตอบว่า เราจะก้าวข้ามวิกฤตินี้ได้อย่างไร จนได้คำตอบว่า “การแปรรูปยางพารา” เป็นหนทางที่ดีที่สุด เพราะการแปรรูปยางพารา สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าตัว จึงได้รวมกลุ่มแม่บ้านในชุมชน จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ล้านนา เนเชอร์รอล ลาเทคซ์  Lanna Natural Latex ขึ้นมา โดยสร้างช่องทางธุรกิจต้นทุนต่ำ นำผลิตภัณฑ์ยางมาต่อยอดและสร้างแบรนด์ ที่ผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์ล้านนา และงานหัตถกรรมฝีมือที่ทรงคุณค่า ที่เติบโตมาจากเกษตรกรและเพื่อเกษตรกร โดยจ้างแรงงานแม่บ้านในหมู่บ้าน

ภายใต้แนวคิดที่ว่า ขอเป็นหนึ่งแรงที่อยากให้ผู้หญิงในหมู่บ้านมีงานที่ดีทำ และขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะเติมรอยยิ้มให้สังคมเมืองพร้าว ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากแรงบันดาลใจที่ว่า “เราไม่ได้ฝันอะไรมาก ขอแค่แปรรูปยางพาราเป็นสินค้าออกมาขาย ให้คนในพื้นที่ได้ใช้ก็พอแล้ว เป็นหนทางให้ชาวสวนยาง มีอนาคตเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน มากกว่าหวังพึ่งแค่ตลาดโลก”

ไลน์ผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง จุดเด่นผลิตภัณฑ์

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์จากแบรนด์  ล้านนา เนเชอร์รอล ลาเทคซ์ เราจะไม่ทำเฉพาะหมอนยางพาราออกมาขายเพียงอย่างเดียว แต่เราทำหลายๆ ผลิตภัณฑ์ที่ในท้องตลาดไม่มี สร้างความแปลกใหม่ในตัวของสินค้า ให้คนไทยรู้จักผลิตภัณฑ์ยางพารามากขึ้น นอกจากนี้ เรายังเน้นความเป็นเอกลักษณ์ล้านนาผสมผสานเข้าไปด้วย โดยทำสินค้าโอทอปประจำท้องถิ่น เราผลิตสินค้าในส่วนของธุรกิจสปา และเครื่องนอนเด็กแรกเกิด รวมถึงที่นอนสุขภาพ เหมอนยางพารา และเบาะยางพารา ตลอดจนที่นอนขนาดพิเศษให้กับโรงแรมและรีสอร์ท และยังทำหมอนขิก หมอนขวานที่เป็นงานฝีมือ100%ที่หายากในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จุดเด่นผลิตภัณฑ์ของเราคือ เราผสมความเป็นล้านนาและงานฝีมือลงไปในผลิตภัณฑ์ยางพารา เรานำผ้าที่ทอมือในหมู่บ้านมาผสมผสานด้วยกัน หลักๆ คือเราต้องการให้กลุ่มแม่บ้านในพื้นที่อำเภอพร้าวได้มีงานทำ ช่วยลดการว่างงานของคนในพื้นที่ ยกระดับงานฝีมือและสามารถของกลุ่มแม่บ้าน

ปริมาณการใช้น้ำยางต่อเดือน และบริหารจัดการวัตถุดิบ

เราใช้น้ำยางในพื้นที่ประมาณ 2-5 ตันต่อเดือน ขึ้นอยู่กับออร์เดอร์ของลูกค้า ส่วนแนวทางการบริหารจัดการวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เรามีการสต๊อกวัตถุดิบประมาณ 3-5 ตันต่อเดือน ขณะนี้ เราเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 5-10% ต่อเดือน เพื่อรองรับฐานลูกค้าใหม่ที่กำลังเติบโต เนื่องจากได้ทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ช่องทางในการกระจายสินค้า

ในช่วงแรก เราได้ทำทดลองการตลาดเบื้องต้นกับกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย จ.แพร่ จ.พะเยา เราได้ออกแบบและผลิตสินค้าออกมาทดลองขายในห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยวในตัวจังหวัด

เราเน้นการตลาดและการกระจายสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ ช่วงแรกๆ ลูกค้าบางกลุ่มซื้อสินค้าไปแล้วก็กลับมาติสินค้าบ้างว่าให้เราปรับเปลี่ยนตรงไหน ทางเราถือว่า การติเตียนของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง  เราไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้าให้ตรงใจกับผู้บริโภคมากที่สุด และก็มีกลุ่มลูกค้าซื้อแล้วใช้ดีบอกต่อๆ กันและกลับมาซื้อใหม่ ทำให้สินค้าของเราขายดีขึ้น จากนั้นผลิตภัณฑ์ยางพาราแบรนด์ ล้านนา เนเชอร์รอล ลาเทคซ์ ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าคนไทยในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเราเน้นขายผลิตภัณฑ์ยางพาราแท้100% เราเน้นไปที่คุณภาพและราคาไม่แพง

ผลตอบรับในช่วงที่ผ่านมา

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ล้านนา เนเชอร์รอล ลาเทคซ์ ของเรา ยังได้รับความอนุเคราะห์จากการยางแห่งประเทศไทย จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง ให้เรานำผลิตภัณฑ์ไปวางขายในสำนักงาน ถือว่าปีนี้เรามีหน่วยงานจากภาครัฐ เข้ามาช่วยขยายช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นด้วย

ความภาคภูมิใจในผลิตภัณฑ์

ความภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของเราคือ  เราได้ผลิตหมอนพิงหลังยางพาราผลิตภัณฑ์ปันรอยยิ้ม จำหน่ายให้กับการยางแห่งประเทศไทย 1,260 ใบ ภูมิใจมากที่ทางการยางแห่งประเทศไทยให้เราเป็นผู้ผลิต ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับออร์เดอร์หลัก 1,000 ใบ  ทำให้เรารู้ถึงความสามารถตัวเอง ว่ากำลังการผลิตเพียงพอและทันเวลาต่อความต้องการของลูกค้าหรือไม่ จากที่เราเริ่มขายหลัก 10 ใบ และ 100 ใบ จนมาเป็นหลัก 1,000 ใบ ในครั้งถัดไปก็ตั้งเป้าอยากที่จะผลิตขายหลัก 10,000 ใบต่อเดือน ทั้งนี้ การผลิตสินค้าให้ออกมาทันกับเวลาที่ลูกค้าต้องการ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และยังเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของเราในการวางแผนการผลิตในแต่ละขั้นตอนให้ตรงเวลาในการนัดรับสินค้าด้วย

แผนขยายโอกาสธุรกิจในอนาคต

1 ปีที่ได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนล้านนา เนเชอร์รอล ลาเทคซ์ การทำตลาดที่ผ่านมาเราออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกงานในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้รู้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าของเรามากขึ้น  เราขายดีในกลุ่มลูกค้าคนไทย และชาวต่างชาติ เพราะเราอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวและกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ทำให้ธุรกิจเราโตขึ้นทุกๆ วัน ส่วนแผนขยายธุรกิจในปีนี้  เราจะเน้นกระจายสินค้าในเขตภาคเหนือทุกจังหวัด โดยจำหน่ายทั้งราคาปลีกและส่ง ให้ธุรกิจโตจากฐานลูกค้าในประเทศ ทุกวันนี้มีคนไม่ถึง1% ที่ได้ใช้สินค้ายางพาราเกี่ยวกับการนอนด้วยแล้วยิ่งสำคัญ จึงเชื่อว่ายังมีกลุ่มลูกค้าคนไทยอีกมากที่ยังไม่ได้ใช้หมอนและที่นอนยางพาราเพื่อสุขภาพ

ข้อแนะนำสำหรับนักธุรกิจมือใหม่ที่จะเข้าสู่ธุรกิจยางพารา

โดยส่วนตัวแล้วเรารักในธุรกิจยางพารา และก็ตั้งใจว่า จะเรียนรู้ในทุกๆ ส่วน ตั้งแต่ต้นต้นน้ำ คือเรียนรู้จักต้นยาง จนรักและเข้าใจยาง กลางน้ำ คือได้รวบรวมผลผลิตระดับภาคเหนือขายส่งให้โรงงาน จนรู้สึกว่า ไม่อยากให้ใครมากำหนดราคาผลผลิตของเรา 5 ปีในการอยู่ในวงการยางพารา ได้ศึกษาตลอดว่า ควรก้าวต่อไปอย่างไรในธุรกิจยางพารา พบเจออุปสรรคมาเยอะมาก  แต่ด้วยที่เรารักในอาชีพนี้ เราจึงอดทนมากเพื่อให้ธุรกิจนี้ผ่านพ้นไปให้ได้ ถ้าเรารักในอาชีพนี้ เราจะมีความอดทนกับมันมากพอ และก้าวเดินไปจนถึงความสำเร็จ

อยากฝากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา บอกถึงข้อดีของผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนยังไม่รู้ เข้ามาสนับสนุนด้านเครื่องจักรในการแปรรูปของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่เขามีความสามารถ ให้ธุรกิจไปรอด เพราะกลุ่มเกษตรกร ไม่ได้มีทุนมากเหมือนภาคเอกชน เราจึงไปเร็วไม่ได้ ธุรกิจเราต้องค่อยๆ เดิน เพราะเราอยากนำผลิตภัณฑ์ไปขายในแหล่งย่านธุรกิจ หรือศูนย์แสดงสินค้า ซึ่งปัจจุบันร้านค้าที่ทำเลดีๆ ค่าเช่าเป็นแสนๆ บาทต่อเดือน เราจึงฝันอยากมีศูนย์แสดงสินค้ายางพารา เพราะอยากให้คนไทยซื้อสินค้าในราคาไม่แพงจนเกินไป ถือเป็นการช่วยเกษตรกรที่คิดจะเริ่มต้นแปรรูปอย่างแท้จริง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here