เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมยางพาราไทย โดย นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ยางพาราในปี 2561 ประเมินว่า จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 3.6 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมาโดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 61 จาก 2.2 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อินเดีย ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย จะขยายตัว 7.4 เปอร์เซนต์ในปี 61 จาก 6.7 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา

ส่วนบราซิลซึ่งเป็นตลาดยางพาราขนาดใหญ่ จะขยายตัว 1.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 61 จาก 0.7 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา ขณะที่จีนจะขยายตัวในอัตราถดถอยที่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 61 จาก 6.8 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากจีนเผชิญความเสี่ยงหนี้สินภายในประเทศสูง รวมทั้งการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน ส่วนญี่ปุ่นจะขยายตัวเพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 61 จาก 1.5 เปอร์เซ็นต์ในปีผ่านมา

นอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังมีปัจจัยด้านผลผลิตและความต้องการใช้ของยางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคายางพารา โดยThe Rubber Economist คาดการณ์ว่าการผลิตยางธรรมชาติของโลกจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 3.7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วงปี 2560-2562 สู่ระดับ 13.9 ล้านตันในปี 2562 การใช้ยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วงปี 2560-2562 สู่ระดับ 13.75 ล้านตันในปลายปี 2562 ทางด้าน The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่า การผลิตยางธรรมชาติของโลกจะยังคงขยายตัว 2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561-2562 ถึงแม้จะมีปรากฏการณ์ลานินญา ซึ่งก่อให้เกิดฝนตกชุกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาวะแห้งแล้งในภูมิภาคลาตินอเมริกา การใช้ยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561-2562 จากการซื้อรถยนต์มากขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

สมาคมยางพาราไทย ยังคงมีความเห็นเชิงบวกว่า ยางพารามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี และมีความร่วมมืออันเข้มแข็งของประเทศสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ซึ่งประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ มาตรการควบคุมการผลิต (SMS) มาตรการจำกัดการส่งออก (AETS) มาตรการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ (DPSC) การจัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (RRM) และโครงการแข่งขันเพื่อชิงรางวัลนักประดิษฐ์นวัตกรรมยาง

นอกจากนี้ ภาครัฐไทยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง เพื่อวางรากฐานให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศผู้ผลิตยางคุณภาพดี เกษตรกรมีรายได้มั่นคง” และมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาราคายางคือ 1) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางวงเงิน 15,000 ล้านบาท(เพิ่มเติม) 2) โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท 3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา วงเงิน 10,000 ล้านบาท 4) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง(ยางแห้ง) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี 5) โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานของรัฐ 6) โครงการควบคุมปริมาณผลผลิตช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 และ 7) การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพารา

สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมืออันเข้มแข็งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ 3 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนาม ในการกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนตลอดไป

ที่มา : สมาคมยางพาราไทย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here