การยางแห่งประเทศไทย ชี้แจงการรับซื้อยางโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เบื้องต้นเริ่มนำร่องรับซื้อน้ำยางสด จำนวน 2,000 ตัน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ยืนยัน กยท.ประกาศราคารับซื้อยางล่วงหน้า 1 วัน พร้อมกำหนดราคากลางอย่างเป็นธรรม และรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรฯ ในราคาเท่ากัน ณ โรงงานแปรรูปทุกแห่ง

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เป็นหนึ่งในนโยบายของทางรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและผลักดันราคายางให้เกิดเสถียรภาพ ซึ่ง กยท. ได้เปิดรับสมัครให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตามความสมัครใจ สำหรับการจัดสรรปริมาณยาง กยท.จะรับซื้อยางตามความต้องการของหน่วยงานภาครัฐที่แจ้งความประสงค์ใช้ยาง ในช่วงนี้จะรับซื้อน้ำยางสดเพียงอย่างเดียวตามความต้องการที่หน่วยงานรัฐแจ้งมา แต่หลังจากนี้จะมีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมเข้ามาเป็นระยะ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้ทำถนนและทำยางปูพื้นสระ เมื่อทราบปริมาณยางที่ต้องการแล้ว กยท.จะจัดสรรไปยังจังหวัด เบื้องต้นจัดสรรให้จังหวัดสงขลา 500 ตัน สตูล 500 ตัน นครศรีธรรมราช 500 ตัน ตรัง 400 ตัน และยะลา 200 ตัน มอบให้สถาบันเกษตรกรในแต่ละจังหวัดจัดสรรกันเอง โดยมองถึงศักยภาพของพื้นที่ จำนวนสมาชิกของแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและความพอใจของทุกฝ่าย รวมถึงการเลือกโรงงานเพื่อแปรรูปผลผลิตของกลุ่ม/สถาบันเกษตรกร โดยให้สถาบันเกษตรกรคัดเลือกเอง และ กยท.จะประสานความร่วมมือให้

ในเบื้องต้นใช้โรงงานของ กยท. ก่อน ถ้าโรงงาน กยท. มีกำลังการผลิตไม่พอ จะติดต่อสถาบันเกษตรกรที่มีโรงงานผลิตน้ำยางข้น ผู้ประกอบการเอกชน ตามลำดับ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ประชุมของสถาบันเกษตรกรได้มีมติเลือกโรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นโดยใช้โรงงานของ กยท. ซึ่งตั้งอยู่ อ.กรุงหยัน จ.นครศรีธรรมราช

นายสุนันท์ กล่าวต่อว่า กยท. มีหลักเกณฑ์การกำหนดราคาผ่านคณะกรรมการกำหนดราคา ซึ่งมีตัวแทนเกษตรกรร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยใช้หลักในการนำเอาราคาเฉลี่ยของตลาดเป็นฐานในการกำหนดราคากลางรับซื้อยางในวันถัดไป และประกาศให้สถาบันเกษตรกรทราบล่วงหน้าก่อน 1 วัน ทั้งนี้ กยท. จะเปิดราคารับซื้อราคาเดียวกัน ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ โรงงานแปรรูป ส่วนสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะนำเอาราคาที่ กยท. ประกาศเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการรวบรวมผลผลิตยางจากเกษตรกร และแจ้งราคารับซื้อให้กับเกษตรกรชาวสวนยางภายในแต่ละกลุ่มเอง

“กยท. ต้องการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในกระบวนการรับซื้อครั้งนี้ จึงให้เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งเป็นของเกษตรกร ต้องทำเพื่อเกษตรกร โดยเกษตรกร ดังนั้น การกำหนดราคารับซื้อของสถาบันเกษตรกร จะคำนึงถึงการช่วยเหลือ และประโยชน์ที่จะเกิดกับเกษตรกรายย่อยในพื้นที่ของตัวเองให้มากที่สุด”

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here