TFEX ร่วมกับองค์กรพันธมิตร เดินหน้าพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสินค้ายางพาราล่วงหน้าต่อเนื่อง มุ่งเน้นการให้ความรู้ เพิ่มสภาพคล่อง ลดอุปสรรคการซื้อขายแก่ผู้ลงทุน พร้อมลงนาม MOU สนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบ RSS3D Futures ระหว่างผู้ประกอบการยางพารา และบริษัทสมาชิก

บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตร ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สมาคมยางพาราไทย และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาสินค้ายางพาราล่วงหน้า และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนใช้ประโยชน์จากสินค้ายางพาราล่วงหน้าใน TFEX หลังร่วมกับภาครัฐและเอกชนพัฒนาสินค้ายางพาราล่วงหน้า RSS3D Futures ตั้งแต่ปี 2559 พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบสินค้าที่อ้างอิงกับยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3D Futures) ระหว่างผู้ประกอบการยางพารา 3 ราย และบริษัทสมาชิก TFEX 5 ราย

ดร. รินใจ ชาครพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า TFEX และองค์กรพันธมิตร มุ่งเน้นที่จะร่วมกันทำงานในการส่งเสริมให้สินค้ายางพาราล่วงหน้าเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้ลงทุนในการใช้บริหารความเสี่ยงและเป็นเครื่องมือในการบริหารพอร์ตลงทุน รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่อง สร้างความรู้ความเข้าใจ และการผลักดันการใช้ราคา RSS3D Futures เป็นราคาอ้างอิงสำหรับการซื้อขายยางพารา และในครั้งนี้ ผู้ประกอบการยางพาราและบริษัทสมาชิกของ TFEX ยังได้ร่วมกันสนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบสินค้ายางพาราล่วงหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจในการรับมอบส่งมอบสินค้าแก่ผู้ลงทุน โดยผู้ประกอบการจะเข้ามาช่วยซื้อหรือขายยางพาราเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนตามแนวทางที่ตกลงกัน ในกรณีที่ผู้ลงทุนประสงค์จะซื้อหรือขายยางพาราเพื่อใช้ในการรับมอบ-ส่งมอบตามสัญญายางพาราล่วงหน้าใน TFEX ซึ่งเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสนับสนุนให้การซื้อขายยางพาราล่วงหน้าเติบโตมากยิ่งขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. ถือเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบของประเทศไทย รวมถึงดูแลด้านเสถียรภาพของราคายาง ซึ่งที่ผ่านมา กยท. มีการพัฒนาตลาดยางพาราในหลายด้าน รวมทั้งได้ร่วมกับผู้ประกอบการ จัดตั้งกองทุนเพื่อเข้ามาซื้อขายยางพาราทั้งในตลาดส่งมอบทันที (Spot) และตลาดล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมาเลเชียและอินโดนีเซีย ในการจัดตั้งตลาดยางพาราระดับภูมิภาค (Regional Rubber Market: RRM) ขึ้นในแต่ละประเทศ โดย กยท. อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการซื้อขายยางพาราระดับภูมิภาคเป็นเงินสกุล USD ซึ่งน่าจะช่วยผลักดันราคายางพาราของไทยให้เป็นราคาอ้างอิงได้ในระดับสากล

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาราคาจากการซื้อขายสัญญาในตลาดล่วงหน้ายางพาราต่างประเทศ เช่น ตลาดสิงคโปร์ ตลาดโตเกียว และตลาดเซี่ยงไฮ้ มีผลต่อราคายางซื้อขายจริงภายในประเทศมาก แต่ตลาดเหล่านั้น ล้วนเป็นตลาดที่ตั้งขึ้นในประเทศผู้ซื้อยางทั้งสิ้น ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยในฐานะผู้ขายรายใหญ่ของโลกจะมีบทบาทในการกำหนดราคายางพาราผ่านการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าของตนเอง และเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทย และผู้ประกอบการได้ใช้กลไกป้องกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มเสถียรภาพราคาของยางพารามากยิ่งขึ้น

“การเพิ่มสินค้ายางพาราในตลาดล่วงหน้า TFEX จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เพิ่มโอกาสในการยางแผ่นรมควันคุณภาพดี และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในประเทศได้มากขึ้น รวมทั้งการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า TFEX จะเป็นกลไกในการสร้างราคาอ้างอิงจากตลาดของประเทศผู้ขาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ซื้อหรือผู้ขายในประเทศในการกำหนดราคาซื้อขายตลาดส่งมอบจริงมากยิ่งขึ้น”

ด้านนายบัณฑิต เกิดวงศบัณฑิต เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมาคมฯ พร้อมผู้ประกอบการยางพารา ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้ายางพาราล่วงหน้าใน TFEX ให้มีความเหมาะสมและมีกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ RSS3D Futures เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายาง ซึ่งความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการยางพาราและโบรกเกอร์ของ TFEX ภายใต้ MOU ในครั้งนี้ ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนที่จะเข้ามาซื้อขายยางพาราล่วงหน้าใน TFEX ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความกังวลในเรื่องการส่งมอบรับมอบสินค้ายางพาราล่วงหน้า และทำให้ผู้สนใจเข้ามาทดลองเรียนรู้และใช้งานยางพาราล่วงหน้ามากขึ้น

นางสุนทรี เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด หนึ่งในบริษัทสมาชิกที่เข้าร่วมลงนาม กล่าวว่า หลังจาก TFEX ได้เปิดการซื้อขาย RSS3D Futures ซึ่งเป็นสินค้าที่กำหนดให้มีการส่งมอบเมื่อครบอายุสัญญา ผู้ลงทุนบางส่วนยังไม่คุ้นเคยและมีความกังวลเกี่ยวกับภาระการรับมอบหรือส่งมอบสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา TFEX และบริษัทสมาชิกได้มุ่งให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้ลงทุน ทั้งในด้านสินค้าและแนวทางการใช้ประโยชน์ รวมถึงนำเสนอบทวิเคราะห์และเครื่องมือซื้อขายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน ตลอดจนหาแนวทางเพื่อลดความกังวลดังกล่าว ในครั้งนี้จึงได้จับมือกับผู้ประกอบการทำ MOU เพื่อความสนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบสินค้า RSS3D Futures

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบสินค้ายางพาราล่วงหน้า จัดทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบการ 3 ราย ประกอบด้วย บมจ. ไทยฮั้วยางพาราไทย บ. วงศ์บัณฑิต จำกัด บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี และบริษัทสมาชิก 5 ราย ได้แก่ บ. คลาสสิก ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด บล. เคที ซีมิโก้ จำกัด บล. ทรีนีตี้ จำกัด บ. เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด และ บมจ. หลักทรัพย์ ไอร่า และคาดว่า ในอนาคตจะมีผู้ประกอบการยางพาราและบริษัทสมาชิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here