โดย : เชษฐา มีมั่งคั่ง

ตลาดหุ้นโลกอยู่ระหว่างความวิตกกังวลต่อแนวโน้มที่อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ โดยสังเกตได้จาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Treasury yields US 10 yr) ที่ปรับตัวขึ้นมาในระดับที่ใกล้เคียง 3 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ในทางกลับกัน ขณะที่ราคาหุ้นสูงขึ้นก็จะมีความเสี่ยงกับแนวโน้มของผลประกอบการในอนาคต

ดังนั้นเมื่อมีความเสี่ยงสูงขึ้น ย่อมมีการเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง และโยกเงินไปหาสินทรัพย์ที่ให้ผลต่อแทนที่สูงกว่า กราฟดัชนีดาวโจนส์ (DJIA) ที่เคยปรับตัวขึ้นมาตั่งแต่เดือนมกราคม 2018 ที่ 26,600 จุด เราก็จะเห็นได้ว่าปรับตัวลงมาถึงระดับ 24,000 จุดในเดือนพฤษภาคม

ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ขณะนี้นับได้ว่า ขึ้นลงกันไปคนละทิศคนละทาง แน่นอนหากมีการขึ้นอัตราดดอกเบี้ยกันอย่างจริงจัง ทองคำก็จะถูกเทขายทำกำไรออกมา เพราะผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินมากว่าการถือครองทองคำไว้เฉยๆ ดังนั้น ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 ขึ้นมาถึงแนวต้าน 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ทีไร ก็จะพบกับการ Take Profit ออกมาทุกที โดยในทางเทคนิค (Technical Analysis) จะมีแนวรับเดิมประมาณ 1,290 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาน้ำมัน WTI รอบนี้ขึ้นมาอย่างโดดเด่นหลังจากกลุ่มโอเปกและรัสเซีย ร่วมกันลดกำลังการผลิต รวมทั้งข่าวที่สหรัฐอาจไม่รับรองข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

 ประเด็นของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แน่นอนย่อมส่งผลด้านบวกต่อราคายางสังเคราะห์ (Synthetic rubber) ดังนั้น เมื่อราคายางสังเคราะห์ปรับตัวขึ้น ย่อมที่จะช่วยดึงให้ราคายางธรรมชาติ (Natural rubber)ดีดขึ้นมาด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ มันมีความไม่แน่นอนๆ“Uncertainty” ขณะที่น้ำมัน ทาง Baker Hughes ก็ออกรายงานว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐ ปรับตัวขึ้นทุกสัปดาห์ ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 834 แท่นแล้ว จากที่เคยขึ้นไปสุงสุดได้ถึง 1,600 แท่น กลุ่มโอเปกกับรัสเซีย ลดกำลังผลิต แต่สหรัฐเพิ่มกำลังการผลิตโดยตลอด และกำลังกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ1 ของโลกไปแล้ว

ในส่วนของกราฟราคายางธรรมชาติ ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) พบว่าในช่วงยางปิดกรีด ของน้อย ราคาน้ำมันก็ขึ้น ราคาจากที่ลงไปถึง 173.3 เยนต่อกิโลกรัมเมื่อเดือนมีนาคม 2018 ก็ได้กลับขึ้นมาในช่วงของเดือน เมษายน-พฤษภาคม อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ก็จะเป็นช่วงของการเปิดกรีดยาง ที่แนวต้านทางจิตวิทยา 200 เยนต่อกิโลกรัม คาดว่า จะมีแรงเทขายทำกำไรออกมา นักลงทุนต้องระวังกัน ไว้ด้วย

ส่วนราคายางในตลาดโลกจะเปลี่ยนเทรนด์นั้น ผู้เขียนให้ข้อสังเกตไว้ที่ หากทะลุ 250 เยนต่อกิโลกรัมได้ จะเป็นขาขึ้น แต่หากตกลงมาต่ำกว่า 170 เยนต่อกิโลกรัม จะเป็นขาลง เข้าสู่ภาวะหมี Bear Market กันอีกรอบ น้ำหนักในขณะนี้ เป็นสภาวะอุปทานส่วนเกินมากกว่าอุปสงค์ (Excess supply) แก้ปัญหานี้ได้ ราคายางมันถึงจะขึ้นอย่างจริงจังครับ สุดท้ายนี้ ขอให้โชคดีกับการลงทุนครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here