การยางแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงกลาโหม จะนำน้ำยางพารา กว่า 17,000 ตัน งบประมาณ 2,600 ล้านบาท นำไปสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ และสร้างบ่อน้ำปูพื้นยางพารา ตามแผนกิจกรรมของกระทรวงกลาโหมที่ดำเนินการอยู่ มั่นใจ ช่วยดูดซับยางพาราไปใช้ในหน่วยงานของรัฐ ตามนโยบายรัฐบาล

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ กยท. แถลงว่า เป็นโอกาสดีที่ทางคณะของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงกลาโหมได้ร่วมประชุมหารือด้านความร่วมมือ เพื่อนำน้ำยางสดจากเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศไปใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เมื่อผลักดันราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี เพื่อจะช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบกับสถานการณ์ราคายางตกต่ำ จึงมีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมทั้งกระทรวงกลาโหมนำน้ำยางจากชาวสวนยางไปใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งกิจกรรมที่กระทรวงกลาโหมดำเนินการมีอยู่ 2 กิจกรรม คือ การปรับปรุงถนนด้วยการทำเป็นถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ และการสร้างสระเก็บน้ำโดยใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบปูพื้นบ่อ

“ภายใต้โครงการนี้ กระทรวงกลาโหมแจ้งปริมาณความต้องการใช้น้ำยางข้นประมาณ 17,913 ตัน โดยมีวงเงินงบประมาณทั้งหมดประมาณ 2,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จะเป็นการช่วยดูดซับผลผลิตน้ำยางที่ออกสู่ตลาด นำเข้าสู่กระบวนการทำถนนและสระเก็บน้ำ นอกจากนี้ ล่าสุด ยังมีหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ แจ้งความประสงค์ที่จะใช้ยาง ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสิ้นประมาณ 180,000 ตัน ถือเป็นปริมาณที่มากพอสมควร จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้ชาวสวนยางที่ขายน้ำยางสด มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และจะทำให้มีการดูดซับน้ำยังเข้าไปใช้ ในกิจการต่างๆ ของภาครัฐได้” ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเสริมว่า

พลโทณัฏฐพัชร สกุลรังสฤษฎ์ เสนาธิการ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย แถลงว่า กระทรวงกลาโหมพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการช่วยเหลือยางราคาตกต่ำ ที่ผ่านมาได้มีการร่วมประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงกลาโหมมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการทำถนนโดยร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม และกรมการทหารช่าง มีการฝึกอบรมและสาธิตในเรื่องของการสร้างถนน เมื่อทางรัฐบาลได้สั่งจ่ายงบประมาณมาแล้ว ทางกลาโหมพร้อมดำเนินการทันทีและจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 โดยจะเป็นการสร้างถนนในพื้นที่ชนบท หมู่บ้าน กระจายไปเกือบ 70 กว่าจังหวัด เน้นความสำคัญให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย และยกระดับเศรษฐกิจของประชาชนผู้อาศัยในชุมชน เพื่อขนส่งพืชผลทางเกษตรเป็นหลัก ทั้งนี้ แบ่งเป็นถนนในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 278 เส้นทาง ซึ่งมีระยะทางยาว 604 กิโลเมตร ในส่วนของกองทัพบก มีจำนวน 405 เส้นทาง ระยะทางยาว 932 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 683 เส้นทาง เป็นระยะทางยาวกว่า 1,500 กิโลเมตร โดยจากการทดสอบของกรมทางหลวง พบว่า ถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ จะมีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นว่าดินลูกรังทั่วไปประมาณ 3-4 เท่า

พลตรีนิรันดร ศรีคชา ผู้อำนวยการสำนักกิจการพลเรือน กรมกิจการพลเรือนทหารบก กล่าวว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม กระทรวงกลาโหมจะดูดซับน้ำยางสดได้ถึง 17,913 ตัน เพื่อนำไปปรับปรุง ซ่อมถนน และสร้างบ่อน้ำปูพื้นยางพารา ซึ่งเป็นบ่อน้ำในไร่นา มีขนาดประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตร โดยจะขุดบ่อให้ประชาชนผู้อาศัยในชุมชนขนาดเล็กได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำนี้ โดยหลังจากขุดสระน้ำจนมีขนาดตามที่ต้องการแล้วจะนำยางพาราไปปูที่พื้นบ่อด้วยการทาบนผ้าดิบ จะช่วยกันและแก้ปัญหาเรื่องการรั่วซึมของน้ำในบ่อลงสู่ผิวดิน ซึ่งจะดำเนินการขุดเป็นบ่อเก็บน้ำ ทั้งหมด 60 บ่อ กระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการพัฒนาและวิจัยไปด้วย หากเกิดผลดีรัฐบาลก็จะพัฒนาและทำกิจกรรมลักษณะนี้อีกในปีต่อไป

ดูข้อมูลยางและพลาสติกเพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here