การยางแห่งประเทศไทย ประชุมผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้แทนจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เข้าหารือร่วมกันในเรื่องสถานการณ์ยางพารา ราคายาง รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ. กยท. พ.ศ. 2558 เพื่อหวังนำไปใช้ในการพัฒนายางพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ ห้องประชุมสถลสถานพิทักษ์ ชั้น 6 การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การประชุมผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ กยท. และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง หารือร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาราคายางในปัจจุบัน โดย กยท. เห็นความสำคัญในเรื่องตลาดยางพารา จึงมีแผนในการพัฒนาตลาดกลางยางพารา เพื่อรับซื้อยางของเกษตรกรในทุกพื้นที่

ซึ่งขณะนี้ กยท. มีตลาดกลางยางพารา 6 แห่ง ได้แก่ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบุรีรัมย์ โดย กยท. จะจัดตั้งตลาดกลางเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง และจังหวัดเชียงราย เพื่อรองรับตลาดให้ครอบคลุมและทั่วถึงในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายให้ยางพาราในแต่ละพื้นที่มีการซื้อขายผ่านตลาดกลางเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% แต่สิ่งสำคัญคือ ยางที่เกษตรกรนำมาขายต้องได้มาตรฐานตามที่ตลาดกลางยางพารากำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นและพัฒนาเกษตรกรในการทำยางที่ได้คุณภาพที่ตลาดต้องการ ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะทำให้เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรสามารถซื้อขายยางได้ในพื้นที่ได้สะดวกมากขึ้น ลดต้นทุนการขนส่ง และสามารถซื้อขายยางได้ในราคาที่เป็นธรรม

รักษาการ ผู้ว่าการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่า ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. โดยให้เครือข่ายเกษตรกร เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะการเข้าถึงกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(2)-(6) จะนำมาพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาวงการยางพาราทั้งระบบได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ

เกษตรกร ยังได้เสนอแนะว่า ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนยางได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลผลิตในการขายยางจากเดิมที่ทำยางแผ่นดิบ หรือยางแผ่นรมควัน มาเป็นน้ำยางสดหรือยางก้อนถ้วยออกมาขายในตลาดแทน จึงต้องการให้ กยท. พิจาณาและวิเคราะห์หาสัดส่วนระหว่างยางแผ่น และน้ำยางที่ออกสู่ตลาด เพื่อวางแผนด้านการตลาด พร้อมกันนี้เกษตรกรขอให้ กยท. ร่วมผลักดันการใช้ยางในประเทศ เช่น การนำยางมาใช้ทำถนนยาง หรือการนำยางในสต๊อกเก่ามาแปรรูป เช่น ทำหมวกกันฝนให้หน้ายาง เป็นต้น ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนยางยังพร้อมที่จะสนับสนุนนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ในการทำงาน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหายางพาราให้ชาวสวนยางต่อไป

ติดตามข่าวสารข้อมูลยางและพลาสติก เพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here