จากกรณีพนักงานขับรถโดยสารและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. กว่า 100 ชีวิต นำโดยนายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพฯ ขสมก. ออกมาเคลื่อนไหวทวงเงินค่าตอบแทนจากการฉีกคูปองแทนตั๋วม้วน โดยมีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ ”อีทิคเก็ต” ของบริษัท ช ทวี ไร้ประสิทธิภาพ ผิดสเปกไม่ตรงตาม ทีโออาร์. แถมผู้บริหารยังพยายามเอื้อประโยชน์ให้เอกชนโดยการแก้ไขสัญญาตัดอุปกรณ์หยอดเหรียญหรือ “แคชบ็อกซ์” ออกโดยหาเหตุอ้างคำพูด “ สังคมไร้เงินสด” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นเหตุผลเพื่อช่วยเหลือเอกชนรายนี้ ไม่ต้องถูกยกเลิกสัญญาและถูกขึ้นบัญชีดำ

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อบ่ายวันที่ ( 25 ต.ค.) ว่า นายธนธัช วิจิตลิมาภรณ์ ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีได้เดินทางมาที่ ขสมก.เพื่อยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการบริหารฯ หรือ บอร์ด ขสมก.เป็นรายบุคคล โดยนายธนธัช เปิดเผยว่า การออกมาทักท้วงของตนไม่มีเจตนากลั่นแกล้งใคร ตนแค่ขอใช้สิทธิ์ของคนไทยผู้เสียภาษีอากร จึงต้องการให้เงินภาษีของประชาชนถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ สำหรับกรณีนี้ถ้าบริษัท ช ทวี มีความสามารถจัดหาอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพตรงตามสเปกที่กำหนดไว้ใน ทีโออาร์.และสามารถส่งมอบงานให้ ขสมก.ได้ถูกต้องก็ไม่มีใครหน้าไหนออกมากล่าวหาท่านได้ เช่นเดียวกันหากผู้บริหาร ขสมก.มีความกล้าหาญที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ของ ขสมก.และบริหารสัญญาให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับก็ไม่มีใครกล้าออกมากล่าวหาท่านได้เช่นกัน และที่สำคัญตนทราบว่า วันที่ ( 26 ตุลาคม ) นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก.ได้เชิญบอร์ดทุกคนมาประชุมวาระพิเศษเร่งด่วน คือการแก้ไขสัญญายกเลิกการติดตั้ง กล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) โดยมีแนวคิดที่จะแยกสัญญาออกจากโครงการเดิมในขณะที่ยังคงการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ซึ่งส่อเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนผู้รับสัญญา โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

นายธนธัช กล่าวต่อไปว่า ประเด็นแรก สืบเนื่องจากเหตุผลที่ ขสมก.ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ในการที่จะแก้ไขสัญญาเพื่อยกเลิกการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) โดยอ้างถึงนโยบายสังคมไร้เงินสดของท่านนายกรัฐมนตรีประกอบกับข้อกล่าวหาเลื่อนลอยที่ว่าเครื่องดังกล่าวนั้นล้าสมัยและไม่สมควรจะดำเนินการต่อไป ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นซึ่งประชาชน สื่อมวลชนและผู้ติดตามโครงการ ต่างทราบดีว่าปัญหาของเครื่องดังกล่าว เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของบริษัทเอกชนผู้รับสัญญาซึ่งไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน TOR ได้ และสร้างปัญหาให้กับการดำเนินการของโครงการนี้มาโดยตลอด เห็นควรจะต้องยกเลิกสัญญารวมถึงขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงานทันทีไม่ใช่มาหาเหตุแก้ไขสัญญากันแบบนี้

“จากข้อเท็จจริงที่ตนได้สืบค้นอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนทำให้พบว่าเหตุผลตามที่ ขสมก ได้กล่าวอ้างและให้ร้ายกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ล้าสมัยนั้นไม่ได้ใกล้เคียงข้อเท็จจริงเลยแม้แต่นิดเดียว เนื่องจากใครก็ตามที่เคยได้มีโอกาสใช้ชีวิตในประเทศต่างๆที่จัดว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว อาทิเช่น ประเทศ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอื่นๆอีกมากมาย ล้วนแล้วแต่ยังคงมีการใช้งานกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความจำเป็นจะต้องรองรับพฤติกรรมการชำระเงินที่หลากหลายของผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง”

จากหลักฐานภาพถ่ายที่ปรากฏในเอกสารแนบแสดงที่ตนนำมายื่นด้วยในวันนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) มีความจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันหรือสังคมไร้เงินสดก็ตาม ยิ่งโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ไม่สมควรถูกแยกออกจากสัญญาดังกล่าว ด้วยเหตุผลตามที่ ขสมก. ได้กล่าวอ้างมา ดังนั้นการที่ ขสมก.อ้างว่า “อุปกรณ์ Cash Box ไม่เหมาะกับบ้านเราที่กำลังเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด “ แท้ที่จริงแล้วเป็นการหาเหตุเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายนี้อย่างน่าเกลียดและดูถูกสติปัญญาประชาชนอย่างที่สุด

​“ตนจึงขอให้บอร์ด ขสมก.ที่มีหัวใจห่วงใยชาติบ้านเมืองไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องได้โปรดพิจารณายับยั้งการแก้ไขสัญญาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคมอย่างเด็ดขาด หากยังมีการปล่อยปละละเลยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนผู้รับสัญญาจนกระทั่งเกิดความเสียหายต่อประชาชนและงบประมาณของประเทศชาติ ตนขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดตามที่กฏหมายได้กำหนดไว้ให้ถึงที่สุด”

นายธนธัช กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่สอง อ้างถึงกรณีการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ที่ยังไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเอกชนรายเดียวกัน ซึ่ง ขสมก ควรจะดำเนินการยกเลิกสัญญารวมทั้งขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานแต่กลับขยายระยะเวลาและให้โอกาสจนกระทั่งล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดใน TOR มากว่า 4 เดือน รวมไปถึงการทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทดังกล่าวในการออกคูปองเพื่อใช้แทนบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ชั่วคราวในช่วงที่เครื่องดังกล่าวยังไม่สามารถใช้การได้ โดยระบุว่า “ให้บริษัททำการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรบนรถโดยสารให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ต.ค. 2560 หากไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ บริษัทฯ จะนำอุปกรณ์มือถือ Mobile Phone มาให้ ขสมก.ใช้แทนเป็นการชั่วคราว และบริษัทฯ ตกลงรับผิดชอบชดใช้ค่าโดยสารกรณีผู้โดยสารที่นำบัตรฯ มาใช้กับอุปกรณ์มือถือตามจำนวนจริง หากบริษัทฯ ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์มือถือ Mobile Phone มาใช้แทนชั่วคราวได้ ขสมก.และบริษัทฯ ตกลงให้พนักงานเก็บค่าโดยสารฉีกคูปองให้ผู้โดยสารที่ใช้บัตรคนจนเป็นหลักฐานการใช้บริการ” แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบว่ามีการเรียกเก็บค่าโดยสารใดๆกับบริษัทเอกชนผู้รับสัญญา และเมื่อพิจารณาจากงบการเงินประจำปี 2560 ของ ขสมก นั้น ไม่พบว่ามีรายได้จากกรณีดังกล่าว และไม่มีการชี้แจงถึงสาเหตุที่ ขสมก ยังไม่ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ขสมก.ไม่เคยพูดถึงข้อตกลงที่ทำไว้กับเอกชน โดยเฉพาะเรื่องที่เอกชนต้องรับผิดชอบค่าโดยสารแทนการที่เครื่องอีทิคเก็ตไม่สามารถหักยอดเงินค่าโดยสารจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ ซึ่งก็คือเงินรายได้ของ ขสมก.เองรวมถึงค่าตอบแทนที่ ขสมก.ต้องจ่ายให้แก่ พขร. 10 สตางค์ และ พกส. 5 สตางค์ เหมือนการจำหน่ายตั๋วม้วนปกติ ด้วยเหตุนี้ตนจึงขอให้ผู้รับผิดชอบในส่วนดังกล่าวโปรดเร่งดำเนินการเรียกเก็บรายได้ในส่วนดังกล่าวกับบริษัทเอกชนรายนี้โดยเร็วที่สุด หากปรากฏว่ามีเจตนาในการปล่อยปละละเลย ทำให้ภาครัฐขาดรายได้และสร้างความเสียหายให้กบัประเทศชาติ ตนขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดตามที่กฏหมายได้กำหนดไว้ให้ถึงที่สุด

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here