“อุตตม” มอบนโยบาย บอร์ดกนอ. ลุยพัฒนานิคมฯ-โครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่อีอีซี และ SEZ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การบริการกระจายทั่วทุกภูมิภาคของไทยพร้อมเชื่อมโยงออกสู่ตลาดเพื่อนบ้าน ยกระดับรายได้คนไทย สร้างความมั่งคั่ง ดันเศรษฐกิจปี 2562 ด้าน “กนอ.” พร้อมเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในพื้นที่อีอีซี นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว สะเดา และนิคมฯยางพารา กลไกผลักดันยกระดับ มูลค่าสินค้าเกษตรสอดรับนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากการเข้าตรวจเยี่ยม พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานแก่คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) และผู้บริหารระดับสูง กนอ. ในวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ว่า กนอ.มีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐโดยเฉพาะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) เพื่อรองรับการลงทุนของไทยโดยเฉพาะในปี 2562 ในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อันจะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เพื่อตอบโจทย์นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลได้วางเป้าหมายระยะยาวที่จะยกระดับให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน และยังเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่ได้มองแค่อุตสาหกรรม แต่ยังมองเรื่องของเกษตรกรรม การท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) และการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน ที่ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

“กนอ.จำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม สมาร์ท พาร์ค (Smart Park) ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใน SEZ นิคมอุตสาหกรรมยางพาราฯลฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อที่จะรองรับการขยายตัวของการลงทุนในอนาคต ซึ่งขณะนี้นักลงทุนไทย และต่างชาติ ต่างก็โฟกัสมายังไทย ด้วยศักยภาพพื้นที่ในการเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวะดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS และการเชื่อมต่อของอาเซียนกับจีน” นายอุตตม กล่าว

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้รายงานถึงโครงการต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี ได้แก่ แผนการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมฯมาบตาพุด จังหวัดระยอง บนเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรม คลัสเตอร์ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบพื้นที่การศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปลายปี 2561 และ พร้อมเปิดให้นักลงทุนเข้าลงทุนได้ในปี 2565

ขณะเดียวกัน กนอ.ยังได้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการที่สำคัญ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนอีอีซี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน หรือ TOR คาดว่าจะสามารถประกาศให้ภาคเอกชนเข้าซื้อซองประมูลได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ และ จะพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนได้ต้นปี 2562

นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีเป้าหมายที่จะกระจายความเจริญไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยใช้พื้นที่อีอีซีเป็นเส้นทางการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปยังพื้นที่อื่นๆใน SEZ รวมถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และระบบ โลจิสติกส์ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน กนอ.ได้ดำเนินการพัฒนานิคมฯในพื้นที่ SEZ และเปิดให้บริการแล้วที่นิคมฯสระแก้ว บนเนื้อที่รวม 660 ไร่ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าใช้พื้นที่ในเฟสแรกเต็มจำนวนแล้ว ส่วนเฟสที่ 2 อยู่ระหว่างพัฒนาระบบสาธารณูปโภค คืบหน้าแล้วกว่า 70 % คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้จองพื้นที่ได้ประมาณปลายปี 2562

กนอ.ยังอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับเหมาเข้าพัฒนาที่นิคมฯ สะเดา จังหวัดสงขลา ระยะแรก จำนวน 629 ไร่ ซึ่งเป็นนิคมฯแห่งที่สองจัดตั้งขึ้นภายใต้การพัฒนา SEZ ของรัฐบาล คาดว่าจะสามารถเปิดบริการรองรับการลงทุนได้ ในปี 2563 ส่วนการพัฒนานิคมฯในระยะต่อไปอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในพื้นที่อื่นๆเพิ่มอีก อาทิ ตาก มุกดาหาร ตราด และหนองคาย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร กระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จ.สงขลา ที่รัฐบาลได้วางเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา เพื่อยกระดับราคายางของไทยให้ยั่งยืน ขณะนี้ได้เปิดให้ผู้ประกอบการได้เข้าซื้อและเช่าพื้นที่ เพื่อประกอบการแล้ว โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นการพัฒนานิคมฯดังกล่าว จึงถือเป็นหัวใจหลักสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนสนับสนุนและสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราให้สูงขึ้นได้ในอนาคต

“กนอ.ได้กำหนดแผนการพัฒนาและบริหารจัดการด้านต่างๆในช่วงปี 2562-2564 โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนนิคมฯสู่เมืองแห่งนวัตกรรมเชิงนิเวศเชื่อมโยง อีอีซี และ SEZ ภายใต้การขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์ 5G+Innovation ที่มุ่งให้ความสำคัญการเติบโตทางธุรกิจอย่างเข้มแข็ง การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของผู้ประกอบการภายในนิคมฯ การให้บริการที่เป็นเลิศแก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป รวมถึงการขับเคลื่อนองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล และรักษาการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดีในทุกๆด้าน ซึ่ง กนอ.มีเป้าหมายที่จะพัฒนาในด้านต่างๆด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในทุกระบบของการให้บริการ” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กร กนอ.ภายใต้แนวคิด “นิคมฯสู่เมืองแห่งนวัตกรรมเชิงนิเวศ เชื่อมโยง อีอีซี และ SEZ” ได้กำหนดแนวทางการดำเนินไว้ใน 4 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 แผนระยะ 5 ปี (2560-2564) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรสู่การเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้านการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และ พื้นที่ SEZ

ระยะที่ 2 แผนระยะ 10 ปี (2565-2569) กนอ.มีเป้าหมายจะเป็นองค์กรที่มีเทคโนโลยีในการให้บริการและสามารถบริหารจัดการท่าเรืออุตสาหกรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ระยะที่ 3 แผนระยะ 15 ปี (2570-2574) กนอ.จะเป็นองค์กรที่ใช้ Cyber Digital เพื่อรองรับการบริหารจัดการนิคมฯและการเชื่อมโยงเครือข่ายการลงทุน

ส่วนระยะที่ 4 เป็นแผนระยะ 20 ปี (2575-2579) กนอ.จะพัฒนาให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่มีความทันสมัยและสร้างผลิตภัณฑ์การให้บริการที่หลากหลายที่มีมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ SMEs Industry Transformation Center หรือ ศูนย์ SMEs–ITC สำหรับเอสเอ็มอี หรือ SME ITC เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนากลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การขับเคลื่อนพลังประชารัฐ ด้วยนวัตกรรมในพื้นที่นิคมฯ อาทิ นิคมฯภาคเหนือ จ.ลำพูน นิคมฯบางปะอิน จ.อยุธยา นิคมฯลาดกระบัง กทม. นิคมฯ บางชัน กทม. นิคมฯบางปู จ.สมุทรปราการ นิคมฯแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นิคมฯเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา นิคมฯมาบตาพุด จ.ระยอง

ติดตามข่าวสารข้อมูลยางและพลาสติก เพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here