กระทรวงเกษตรฯ หนุนเกษตรกรใช้มือถือตรวจสอบสภาพเกษตรแปลงใหญ่ สร้างสมาร์ทฟาร์ม. เมอร์ พร้อมเร่งจัดทำบิ๊กดาต้ารองรับการเปลี่ยนแปลงสู่เกษตร 4.0 ขณะที่นายกสมาคมสื่อเกษตร ชี้ เกษตรคือประเทศไทยโลกการสื่อสารไร้พรมแดน จะหลอมรวมข้อมูลด้านการเกษตรส่งต่อผู้บริโภคหรือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เกษตรไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม” ในงานครอบรอบ 11 ปีสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) และ 19 ปี รวมพลคนข่าวเกษตร ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า ขณะนี้อาชีพเกษตรกรรมของไทยกำลังได้รับผลกระทบจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งต่อไปจะต้องตามให้ทันยุค จะทำเกษตรแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะตลาดในต่างประเทศจะมีการตรวจสอบห่วงโซ่การผลิต ภายใต้กติการะหว่างประเทศ เช่น ยางพารา จากเดิมต้นยางพาราที่มีอายุ 25 ปี ตัดส่งออกได้ แต่ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว เพราะจะถูกตรวจสอบว่า ปลูกจากที่ไหน ใครเป็นคนตัด หรือส่งออกข้าวโพด จะถูกตรวจสอบว่า ปลูกในพื้นที่บุกรุกหรือไม่ เป็นต้น ที่สำคัญ สินค้าที่ส่งออกจะต้องปลอดจากสารเคมีตกค้างด้วย

“หากวันนี้เกษตรกรยังไม่มีการปรับตัว ประกอบกับเกษตรกรไทยมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เกษตรกรรุ่นใหม่มีน้อยลง เกษตรกรเรียนจบปริญญาตรีมีน้อยลง ที่ทำอยู่เป็นเกษตรกรที่เคยทำงานในบริษัทเกษตรขนาดใหญ่ ถามว่าในอีก 15 ปี ข้างหน้า เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ที่นา ที่สวน ใครจะเป็นคนทำ” นายนิวัติกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตร 4.0 ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ ตรวจสอบข้อมูล ในการทำเกษตร ให้ครบทั้งระบบ ทั้งเรื่อง น้ำ อากาศ แต่จากการที่กระทรวงเกษตรฯ ไปตรวจสอบ กลับพบว่า มีเกษตรกรจำนวนน้อยที่ทำตาม ทั้งที่รัฐบาลติดตั้งอินเทอร์เน็ตครบเกือบทุกหมู่บ้านแล้ว ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนาเกษตรกร ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต สร้างเกษตรกรสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองต่าง ๆ ขณะที่ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และเร่งจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้า เปิดช่องทางให้เกษตรกรเข้ามาติดต่อระหว่างกัน สร้างระบบอี-คอมเมิร์ซ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561 เพื่อเปลี่ยนเทรนช่วยให้อาชีพเกษตรกรยืนอยู่ได้

สำหรับการขับเคลื่อนและความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยนวัตกรรม ตามนโยบายชองท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ท่านกฤษฎา บุญราช ได้ตั้งเป้าไว้ 5 ประการ คือ

1. เกษตรกรไทยทุกคนจะต้องหลุดพ้นจากกับดักความยากจนมีรายได้ 1 เท่าตัวในปี 2565
2.พัฒนาระบบสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง
3. เกิดสังคมและชุมชนเกษตรกรไทยแบบพออยู่พอเพียง
4. ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าปลอดภัย 100%
5. ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นที่รักของเกษตรกร ผ่านการปรับความคิด ทั้งการปลุกจิตสำนึกและความภูมิใจในความเป็นข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯ รวมเป็นทีมเกษตรและสหกรณ์ และเปลี่ยนแนวคิดใช้หลักการตลาดนำการผลิต

ด้าน นายถวิล สุวรรณมณี นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย (สกท.) กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า ถือเป็นการรวมพลของคนข่าวเกษตรปีละครั้งในการพบปะพูดคุยกันถึงความเป็นไปในวงการเกษตรไทย เนื่องจากปัจจุบันในโลกของโซเชียลมีเดีย ทำให้ความคลาดเคลื่อนมีสูง เราก็ต้องอาศัยของจริงจากสถาบันหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือจากองค์กรภาครัฐในการนำเสนอสู่ผู้บริโภค และเกษตรกรรม ก็เป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะการเกษตร คือประเทศไทย

การจัดงานครั้งนี้ จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านข้อมูลความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรซึ่งกันและกัน วันนี้โลกการสื่อสารไร้พรมแดน การรับรู้ข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เรามาร่วมมือกันนำความรู้มาหลอมรวมกันเพื่อส่งต่อให้แก่ผู้บริโภคหรือประชาชน ประเทศไทยมีอาชีพเกษตรเป็นพื้นฐาน เกษตรกรจึงจำเป็นต้องรับงานวิชาการเพื่อถ่ายทอดงานวิจัยต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนและประเทศชาติบ้านเมือง” นายถวิล กล่าว

ทั้งนี้ ในงานมีการมอบโล่เกียรติคุณให้กับผู้มีคุณประโยชน์ในวงการเกษตร 19 ท่าน ดังนี้

1. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อดีตอธิบดีกรมหม่อนไหมอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรอดีตอธิบดีกรมการข้าว ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดชีวิตราชการบริหารงานภาครัฐนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภาคการเกษตรของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

2. นายเปรม ณสงขลา สื่อมวลชนเกษตรอาวุโส บรรณาธิการใหญ่วารสารเคหะการเกษตร ผู้คร่ำหวอดและเชี่ยวชาญด้านการเกษตรด้านบริหารจัดการและการผลิตสินค้าเกษตรกลุ่มไม้ผลพืชสวนเป็นนักคิดนักเขียนนักวิชาการอิสระและวิจัยอีกด้วย

3. นายสุภาพชาย บุตรจันทร์ ผู้ประกาศข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์เวิร์คพอยท์
เป็นเกษตรกรตัวจริงเจ้าของสวนองุ่นคุณหวานลูกเองขายเอง

4.นายศักดิ์ สมบุญโต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีและผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ผู้เข้าถึงเกษตรกรพัฒนาการเกษตรปัจจุบันผันตัวเป็นเกษตรกรเต็มตัว

5.ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์
ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชนผู้ขับเคลื่อนปุ๋ยสั่งตัดโดยใช้กลไกคลินิกดินเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรกร ตอบโจทย์ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรสาขาพืชเป็นอย่างดี

6.นายเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรประมง ผู้บุกเบิกเพราะพันธุ์ปลาบึกและจัดตั้งฟาร์มวังปลาบึกจนทำให้มีตลาดรองรับอย่างกว้างขวาง

7.นายประทีป มายิ้ม นายกสมาคมกุ้งก้ามแดงเพื่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
ผู้บุกเบิกการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเมืองไทย ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ”สวนพออยู่พอกินบ้านมายิ้ม”

8.นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์ผู้เลี้ยงกุ้งไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยระบบเฝ้าระวังการติดตามเพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ

9.นายเอนก สีเขียวสด เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการเลี้ยงสัตว์ปีก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง ประธานบริษัทเอนกฟาร์มนกกระทาจำกัด ผู้รวมตัวตั้งกลุ่มเลี้ยงนกกระทาที่ใหญ่ที่สุดในอาเชี่ยนโดยเริ่มจากเกษตรกรรายย่อยจนกระทั่งทำผลิตภัณฑ์แปรรูปนกกระทาและไข่นกกระทาส่งขายทั่วไทยส่งไปทั่วโลก

10.นายอุดม ฐิตวัฒนะสกุล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการทำสวน นิสิตเก่าดีเด่นสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์
เชี่ยวชาญด้านไม้ประดับ เจ้าของสวนอุดมการ์เดนส์เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรและเป็นที่ฝึกงานแก่นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ

11.นายวโรชา จันทโชติ เจ้าของสวนมะนาวฟาร์มสเตย์วโรชา ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นผู้ปลูกมะนาวให้ผลผลิต 1-3,000 ผลต่อต้น

ผู้สนับสนุนกิจการสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย

1.นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ผู้นำเกษตรกรเฝ้าระวังปกป้องผลประโยชน์เกษตรกรชาวสวนยางพารา

2.ดร.มนตรี คงตระกูลเทียน คณะบดีคณะการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้ส่งเสริมนวัตกรรมการศึกษาภาคการเกษตรเพื่อผลิตทรัพยากรบุคคลให้เป็นธุรกิจเกษตรให้บรรลุเป้าหมายถึงปลายน้ำ

3.นายธนากร รัชตานนท์ นายกสมาคมพัฒนาให้ไทย ผู้จัดการโครงการปิดทองหลังพระ ผู้รณรงค์ปลูกไผ่เพื่อแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นจังหวัดน่าน

4.นายสมศักดิ์ ศรีเพชร นักธุรกิจจิตอาสาผู้ปรุงอาหารบริการให้แก่จิตอาสาในเหตุการณ์ต่างๆโดยใช้รถบรรทุกฮัมวี่ปรุงอาหารตามภารกิจของเพื่อนจิตอาสา มีที่ไหนไปที่นั่น ล่าสุดที่ถ้ำหลวงคุณน้ำนางนอนไปร่วมช่วย 13 ชีวิตหมูป่า และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมไร่นาเนื่องจากการ ผันน้ำออกอยากถ้ำหลวงสู่ไร่นา

5.นายสุกรรณ์ สังข์วรรณ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการทำไร่นาส่วนผสม
ปราชญ์เกษตรสุพรรณบุรี บูรณาการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ไร่นาสวนผสม พื้นที่ 300 ไร่รายได้ประมาณ6ล้านบาทต่อปี

6.นายสิทธิพร บูรณนัฏ อุปนายกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ ผู้บุกเบิกตลาดโคเนื้อโคขุนจนประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง

7.ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสนผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเกียรติคุณบุคคลดีเด่นของชาติสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ศึกษาวิจัยคิดค้นข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นที่ประจักษ์ของชาวไทย

8.ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส(เห็ด)องค์การสหประชาชาติปีพ.ศ. 2524 ถึง 2548 ผู้เชี่ยวชาญเห็ดสากลแห่งศูนย์ไบโอเทคประเทศไทย

งานครบรอบ 11 ปี สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย 19 ปีรวมพลคนข่าวเกษตร จัดขึ้นปีละครั้ง เพื่อแสดงถึงการรวมพลัง สมัครสมานสมัคคี ของสมาชิกสมาคมฯ และคนวงการเกษตรกับเกษตรกร ในปีนี้มีผู้ร่วมงานคักคักเช่นเคย รวมทั้งมีผู้ร่วมออกบูธมากมายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงบูธสินค้าเกษตรจากกลุ่มเกษตรกรอีกด้วย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here