ภูมิใจไทย จัดวงเสวนาแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน ระดมความเห็นช่วยเกษตรกร ได้ข้อสรุป นำปาล์มไปผลิตกระแสไฟฟ้า ผ่านระบบ Profit Sharing หรือ แบ่งปันผลประโยชน์ จะช่วยผลักดันให้ราคาปาล์มสูงขึ้น และ เกษตรกรได้รับความเป็นธรรม

วันนี้ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย ได้จัดการเสวนา “ปาล์มน้ำมัน จากพืชเพื่อการบริโภค สู่ พืชพลังงาน” เพื่อระดมความคิดเห็น แก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคฯ เป็นผู้เปิดการเสวนา พร้อมกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย จัดเสวนาขึ้นมา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ซึ่งได้จุดประกายจาก นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ที่ได้นำทีมไปแข่งฟุตบอลในพื้นที่ภาคใต้ ไปเจอปัญหา และได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ที่จะนำผลผลิตจากปาล์มน้ำมันทั้งระบบไปผลิตเป็นพลังงาน ดังนั้นการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ จะได้รับฟังปัญหาจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ตกผลึก จะได้แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มทั่วประเทศ ที่มีประมาณ 2 แสนครอบครัว หรือ ประมาณ 1 ล้านคน

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลผลิตปาล์มทั่วโลกในปี 2560 มีประมาณ 72.2 ล้านตัน โดยอินโดนีเชีย ผลิตได้มากที่สุด 36 ล้านตัน หรือประมาณ 55.4 % ของโลก โดยส่งออก 56.2% มาเลเซีย ผลิตได้ 18.9 ล้านตัน 29.5% ส่งออก 34.4% ส่วน ประเทศไทย ผลิตได้ 2.5 ล้านตัน คิดเป็น 3.9% ของโลก และมีปริมาณการส่งออก 0.5% ทั้งนี้ ทั่วโลกสามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้ ประมาณ 68.8 ล้านตันต่อปี โดย ประเทศอินเดีย มากที่สุด 20.3% รองลงมา คือ กลุ่มสหภาพยุโรป หรือ อียู 15.8% จีน 10.6% และ ปากีสถาน 7% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 4% และ กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 4.5% “สะท้อนให้เห็นว่า อัตราการผลิต เพิ่มมากกว่าความต้องการใช้” นายฉกรรจ์ กล่าว และ ระบุว่า ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกปาล์ม 5.3 ล้านไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 4.7 ล้านไร่ มีผลผลิต ทะลายปาล์มดิบ 13.5 ล้านตัน สกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 2.5 ล้านตัน มีเกษตรกรปลูกปาล์ม 225,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 1 ล้านคน เป็นเกษตรกร ที่ ได้รับผลกระทบจากราคาปาล์มตกต่ำ ซึ่งตามตัวเลข ขณะนี้ มีการปลูกปาล์มทั่วประเทศ ไม่เฉพาะภาคใต้ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจึงมีทั่วประเทศ

นายฉกรรจ์ กล่าวด้วยว่า การปลูกปาล์มปัจจุบันมีต้นทุน 2.94 – 3.06 บาท ขายได้ 2.50 บาท ซึ่งขาดทุนทุกกิโลกรัมที่ขาย โดยราคาปาล์มตลาดโลก และน้ำมันปาล์มในสต็อกที่มีอยู่ 400,000 ตัน เป็นตัวฉุดให้ราคาตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาทุกปี “ปาล์มจำนวน 2.5 ล้านตัน 40% ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่น 40% โรงงาน ไบโอดีเซล 33% ส่งออก 10% ที่เหลือเป็นสต็อกปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบมากที่สุด คือ มติของสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่ต้องการควบคุมน้ำมันปาล์ม และ ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตพลังงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทย เพราะอียูนำเข้าน้ำมันปาล์ม 15% ซึ่งจะทำให้ปาล์มจำนวนนี้่สูญหายไป โดยมีมาเลเซียได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะส่งออกไปตลาดอียูโดยตรง

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา อยากให้พิจารณา กรณีของอ้อยและน้ำตาล ที่มีระบบ Profit Sharing หรือ การแบ่งปันผลผลิต โดยนำระบบจากอ้อยและน้ำตาลมาเป็นต้นแบบ โดยแบ่งปันให้กับเกษตรกร ประมาณ 70% โรงงาน 30% อุตสาหกรรมอ้อย จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีปัญหาน้อยที่สุด ส่วนตัวจึงเห็นว่า ควรนำระบบ Profit Sharing มาใช้กับปาล์มน้ำมัน เพราะในอนาคตปาล์มน้ำมัน จะมีปัญหาเรื่องราคา จึงจะต้องปรับโครงสร้าง จากการผลิตเพื่อการบริโภค เป็นการผลิตเพื่อป้อนโรงงานไฟฟ้ โดยนำน้ำมันปาล์มดิบ ผสมกับน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้วที่โรงไฟฟ้า จ.กระบี่ โดยระบบดังกล่าว จะมี 3 ส่วน คือ เกษตรกร,โรงงานสกัด และโรงไฟฟ้า ใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ ตามสัดส่วนการลงทุน เกษตรกร ในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ จะได้มากที่สุด 60-70% ดังนั้นถึงเวลาที่จะเราต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ถ้าทำได้ เกษตรกรจะมั่นคง อยู่ดีกินดี แต่ที่สำคัญ จำเป็นจะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ จึงขอเสนอให้พรรคภูมิใจไทยไปพิจารณา

ด้าน นายเชาวลิต ศุภนคร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีพีพี กรีนคอมเพล็กซ์ จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่เกษตรกร มีส่วนแบ่งเพียง 60,000 ล้านบาท โดยรายได้ที่เหลือ 150,000 ล้านบาท หรือ 75% จะถูกแบ่งไปยัง โรงงานสกัด ภาคอุตสาหกรรม เชื้อเพลิง ไบโอดีเซล และ พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็น”ตัวเล่นใหม่” ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น การนำผลผลิตปาล์มน้ำมันไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ประมาณ 42,000 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าหมุนเวียน 3,004 เมกะวัตต์ ภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้า 2,000 กว่าเมกะวัตต์ แต่มีกำลังไฟสำรอง 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้

นายเชาวลิต ได้แจกแจงถึงโครงสร้าง ปาล์มน้ำมัน 1 กก. สามารถสกัดเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงงานไฟฟ้าได้ 17-18 % ส่วนที่เหลือ ก็นำไปแปรรูปให้เป็นประโยชน์ โดยใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการบริโภคและอุปโถค อาทิ เมล็ดในปาล์ม หรือ เส้นใย ขณะที่ส่วนที่เหลือ ก็นำไปใช้ในการเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงงานไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ทลายปาล์ม หรือ ใบปาล์ม และ หากพิจารณาตามต้นทุน การผลิตไฟฟ้า จากน้ำมันปาล์ม ก็ไม่ได้สูงกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ โดย พลังน้ำ มีต้นทุน 4.90 บาท/หน่วย พลังงานลม 6.06 บาท/หน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ 5.66-6.85 บาท/หน่วย ไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 5-6.30 บาท/หน่วย ชีวมวล 4.24-5.34 บาท/หน่วย และก๊าซชีวภาพ 3.76 บาท/หน่วย

สำหรับน้ำมันปาล์ม หลังจากก่อสร้างโรงงานสุกดีมารองรับ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 45-60 ตัน/ชั่วโมง กำลังผลิต 200 ตัน/วัน ผลิตไฟฟ้าขนาด 45 เมกะวัตต์ เป็นไบโอแมส 10 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า CPO 35 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 3,150 ล้านบาท มีต้นทุนค่าไฟฟ้า 5.27 บาท/หน่วย ในขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ.รับซื้อที่ 7.43 บาท/หน่วย ดังนั้นที่สำคัญ หากจะดำเนินการก่อสร้างโรงงงานไฟฟ้า สามารถนำสัญญาการซื้อขายจากการไฟฟ้าฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ.ไปเป็นหลักฐานค้ำประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ทันที สะท้อนให้เห็นว่า การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์ม ไม่แพงกว่าการผลิตจากชนิดอื่น โดยโรงไฟฟ้าขนาด 45 เมกะวัตต์ จะใช้ปาล์มประมาณ 80,000 ตันต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ราคาปาล์มเพิ่มเป็น 4.5 บาทต่อกิโลกรัม สามารถแก้ปัญหาอุตสาหกรรมปาล์มได้ทั้งระบบ และสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าการแก้ปัญหาตามดีมานด์-ซัพพลายเหมือนในอดีต

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ข้อเสนอการนำปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า มีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็โดนต่อต้านมาตลอด จนกระทั่งเกิดปัญหาไฟดับตลอดทั้งภาคใต้ จึงมีหลายฝ่ายมาคล้อยตาม เนื่องจากที่ผ่านมา เราใช้ถ่านหินมาผลิตไฟฟ้า และ กลุ่มที่มีผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินออกมาต่อต้าน ขัดขวางปาล์มน้ำมันมาโดยตลอด หลังจากไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ จึงได้ข้อสรุป เอาพืชพลังงานที่มีในท้องถิ่น คือ ปาล์มน้ำมันมาแทน นำผลผลิตปาล์มส่งให้โรงไฟฟ้าที่ จ.กระบี่ “เมื่อวันที่31 ต.ค.ที่ผ่านมาได้พบกับคุณเนวิน และ ได้ชวนกันไปดูกระบวนการและขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่และคิดว่าถ้าพรรคภูมิใจจะนำเรื่องนี้มาเป็นนโยบาย ซึ่งนอกจากจะสามารถยกระดับราคาปาล์มให้สูงขึ้นแล้ว ยังจะช่วยสร้างความยั่งยืนดด้านพลังงานให้พื้นที่ภาคใต้อีกด้วย

นายกิตติชัย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้เสนอเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลพิจารณาหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับคำตอบกลับมา โดยผู้รับผิดชอบบอกว่า จะเอาปาล์มน้ำมันไปให้โรงไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าราชบุรี กับ โรงไฟฟ้ากระบี่ มันคนละระบบ มีการทำงานต่างกัน แสดงว่า คนพูดไม่รู้เรื่อง พูดแบบขอไปที

นายพันศักดิ์ จิตรัตน์ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ ประธานคณะทำงานด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้านั้น หากพรรคภูมิใจไทย เอาแน่ มาหมดทั้งภาคใต้แน่ ๆ และการแก้ไขปัญหาปาล์ม นั้นจะส่งผลไปสู่เศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศไทย เพราะเมื่อเกษตรกรมีรายได้ ก็จะนำไปใช้จ่ายในประเทศไทย

นายอธิราษร์ ดำดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ แสดงความน้อยใจที่ภาครัฐ ไร้น้ำใจกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ทุกครั้งที่ยื่นมาตราการเพื่อให้ช่วยเหลือ กลับไม่ได้รับไปดำเนินการ ปล่อยให้เกิดความทุกข์ยากของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และยังบอกว่าให้ไปหาอาชีพอื่น ทั้งที่พวกเราปลูกกันมา 50-60 ปีแล้ว ทำเม็ดเงินเข้าประเทศรวมแล้วนับเป็นเงินนับล้าน ๆ บาท เราเกิดเป็นเกษตรกร ก็ตายด้วยอาชีพเกษตรกร ไม่มีเกษียณ ไม่มีบำนาญ อยากเห็นรัฐบาลเอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎรมากกว่านี้

นายอัจริยะ นพรัตน์ ประธานคลัสเตอร์น้ำมันปาล์มภาคใต้ กล่าวว่า ปาล์มน้ำมัน ถือเป็นพืชมหัศจรรย์ สามารถใช้บริโภคได้ โดยแปรรูปเป็น น้ำมันพืช นำไปทอด และ ผัด หรือ ทำเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว และยังอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังเป็นพลังงานสะอาด หรือ Clean Energy เพราะไม่มีสารกำมะถัน เจือปนออกมา ขณะที่ ผลผลิตต่างๆของพืชปาล์มน้ำมัน สามารถนำมาใช้สร้างมูลค่าได้ทั้งสิ้น อาทิ ทลาย เส้นใย เมล็ดใน และที่สำคัญ ของการเป็นพืชมหัศจรรย์ คือ สามารถปลูกทดแทนได้ตลอดเวลา ตามต้องการ เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานปิโตนเลียม ที่นับวันจะยิ่งมีปริมาณลดลง แต่พลังงานจาก ปาล์มน้ำมัน สามารถหามาทดแทนได้ตลอดเวลา

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ ประธานการเกษตรเพื่อตลาดลูกค้า ธกส. กล่าวว่า ภาพรวมวันนี้ เกษตรกรลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ผลผลิตปาล์มน้ำมัน จะได้ประมาณ 22 ตันต่อไร่ ต่อมาเมื่อราคาตกลงมา การจะโค่นต้นปาล์ม เพิ่อปลูกพืชนิดอื่นไปทดแทน มันทำไม่ได้ เพราะที่บ้าน จ.พัทลุง มีเกษตรกรปลูกปาล์ม ไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนภาครัฐ ไปเสนอแนวทางช่วยเหลือ ด้วยการแนะนำให้เอาแพะไปเลี้ยง 1 ไร่ต่อแพะ 3 ตัว ซึ่งก็ไม่รู้ว่า คิดได้อย่างไร จนมาได้พบ นโยบายการนำปาล์มน้ำมัน ไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งมันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายของ พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นทางออก ตามหลักการ การเมือง คือ เครื่องมือในการช่วยเหลือเกษตรกร

ด้านนายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ กล่าวว่าผู้เกี่ยวข้องกับ ปาล์มน้ำมัน 2.2 แสนครัวเรือน หรือ 1 ล้านคนนั้น เป็นเพียงแค่ต้นน้ำ แต่ถ้ารวมทั้งระบบที่เกี่ยวข้องจะมีคนประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งรวมถึง กลางน้ำและปลายน้ำ การนำปาล์มน้ำมันมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ และเป็นพลังงานสะอาด และการใช้ ผลประโยชน์แบ่งปัน จะเป็นโมเดล ในการแก้ไขปัญหา แต่ภาครัฐต้องเข้ามา เป็นมติใหม่ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืนให้กับเกษตรกร

นายศักดิ์สยาม กล่าวปิดการเสวนาว่า ทางพรรคฯ มีความเชื่อว่า ประเทศไทย จะแข็งแรงได้ต้องทำให้ประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรแข็งแรงก่อน คือ ต้องรวยด้วยกัน ไม่ใช่รวยกระจุก จนกระจาย จากการเสวนา ปาล์มน้ำมัน เป็นห่วงโซ่ ปลายน้ำ เป็นพืชพลังงาน หรืออะไร อีกหลายๆ อย่าง จะทำให้มีราคาสูงขึ้นได้ กลางน้ำ เป็นเรื่องของการแปรรูปเป็นโรงสกัด ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว ยิ่งมาฟังจากต้นน้ำ คือเกษตรกร ที่พร้อมในการทำให้ปาล์มมีคุณภาพเพียงพอ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องหาเครื่องมือ คือ กฎหมายต้องให้ชัดเจน ทำอย่างไร เมื่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ปลูกขึ้นมาแล้ว จะให้ไปสู่ เรื่องพืชพลังงาน และการแบ่งปันผลกำไร จะมีความเป็นธรรม

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here