ชาวสวนพอใจหลังคณะวิจัยผนึกกำลังใช้เทคโนโลยี “การเกษตรแม่นยำ” พัฒนาสวนส้มคุณภาพให้เกิดความยั่งยืนและแก้ปัญหาโรคต้นโทรมอย่างตรงจุดที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.

ศ. ดร.อรรถชัย จินตะเวช ผู้ประสานงานเครือข่ายวิจัยพัฒนาและนำใช้เกษตรแม่นยำ คณะเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการทำการเกษตรในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลายด้าน เรียกรวมๆ ว่า “การเกษตรแม่นยำ” ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ได้รับการก่อตั้งภายใต้ฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการเชื่อมโยงและสร้างเวทีให้ผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่มมีเวทีและโอกาสร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ ได้แก่ เกษตรกรกับนโยบาย นักวิจัย และแหล่งทุน เพื่อร่วมกันยกระดับทางเกษตรอย่างแม่นยำ สร้างต้นแบบและตัวอย่างแม่นยำของส้ม ทุเรียน ลำไย มะพร้าว น้ำหอม ปาล์มน้ำมัน

ตัวอย่างงานวิจัยขณะนี้คือ การจัดการโรคต้นโทรมของส้มเขียวหวานอย่างแม่นยำและยั่งยืนในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมี ศ.ดร.ชัยวัฒน์ โตอนันต์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อศึกษาถึงสาเหตุของโรคต้นโทรม โดยพบว่าเกิดจากสภาพดินเสื่อม เป็นกรด เนื่องจากใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานาน และมีโรคสำคัญที่เป็นสาเหตุหลัก ได้แก่ โรครากเน่าที่เกิดจากเชื้อรา และโรคกรีนนิ่งที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งยืนยันผลได้จากการใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอของเชื้อสาเหตุเช่นเดียวกับการตรวจโรคไข้เลือดออกในมนุษย์ โดยคณะวิจัยได้หาแนวทางแก้ไขอย่างแม่นยำและยั่งยืนด้วยการทดลองใช้เทคนิคชีวภาพ ใช้อินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงดินร่วมกับการใช้เชื้อราปฏิปักษ์เพื่อควบคุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค โดยไม่ชักนำให้เกิดการดื้อยา จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

คณะวิจัยยังได้พัฒนาเชื้อราปฏิปักษ์ในรูปแบบของเชื้อสด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปขยายต่อได้ด้วยตนเองซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยมีแปลงส้มสาธิตดูงานและฝึกอบรมในอำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการ เพื่อสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่วิธีการดูแลรักษาสวนส้มอย่างปลอดภัยแก่เกษตรกร ลดการใช้สารเคมีในการปลูกส้มและลดปัญหามลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ขณะนี้สามารถควบคุมโรคได้ในระดับโรงเรือน แต่ในแปลงปลูกของเกษตรกรยังมีเรื่องสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ปริมาณของน้ำฝนที่มากเกินไป หากจะแก้ปัญหาในระยะยาวจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างดิน หรือเปลี่ยนมาปลูกส้มในบ่อซีเมนต์โดยมีการเสริมรากควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังศึกษาการปลูกพืชอื่นเพื่อทดแทนส้มซึ่งยากในการบริหารจัดการ ซึ่งพบว่าเกษตรกรมีความต้องการปลูกทุเรียนเพราะเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมี ผศ. ดร.รัชดาวรรณ ชีวังกูร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการศึกษาเรื่องการจัดการโรคไฟทอปธอร่าของทุเรียนอย่างแม่นยำและยั่งยืน

ด้าน ศ. ดร.เกตุ กรุดพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนได้พัฒนาระบบเซ็นเซอร์ทางเคมีที่ใช้ในการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนข้อมูลทางเคมีเป็นสัญญาณที่เป็นประโยชน์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนรับและส่วนแปลง โดยช่วงแรกมุ่งเน้นธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เป้าหมายเพื่อพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ทางเคมีที่ลดขนาดลง มีสัญญาณที่เกิดขึ้นการวิเคราะห์นั้น ๆ ต่อเชื่อมกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ได้ รวมถึงใช้รีเอเจนต์ธรรมชาติที่สกัดได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ราคาไม่แพง เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรรากหญ้าของไทย

ขณะนี้ได้ลองนำเซนเซอร์ไปใช้ในการติดตามคุณภาพดิน ปุ๋ย และน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมสวนส้มคุณภาพ ที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งทดลองกับเกษตรกรรากหญ้านาข้าวและไร่ข้าวโพดที่จังหวัดพะเยา ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Local wisdom, global issue, sustainable world’ โดยกำหนดแนวทางในอนาคตว่าครัวเรือนเกษตรกรจะต้องมีขีดความสามารถในการเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรด้วยตนเอง

นายเจษฎา ศศานนท์ เจ้าของสวนส้มปางเสี้ยว กล่าวว่า หลังจากประสบปัญหาโรคต้นโทรมจนทำให้ส้มที่มีเนื้อที่ 10 ไร่เสียหาย สูญเสียเงินกว่า 5 ล้านบาท จึงได้เข้าร่วมทดลองใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำร่วมกับคณะวิจัย ทำให้รู้ปัญหาแบบฟันธงไม่ต้องหว่านแหเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาไปได้มากและรักษาโรคได้เร็วและตรงจุด ตนรู้สึกพอใจมากเพราะมีความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 80 อย่างไรก็ตามยังคงต้องใช้สารเคมีเพื่อรักษาโรคดังกล่าว เพราะยังไม่มีสารทดแทนจากธรรมชาติที่ให้ผลได้เต็มร้อย ชีวภัณฑ์ที่เป็นจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ยังมีราคาแพงกว่าสารเคมี จึงฝากความหวังไว้กับคณะวิจัยชุดนี้เพราะตนมีเป้าหมายที่จะทำส้มอินทรีย์ ขณะนี้ได้ทดลองปลูกส้มในมุ้งด้วยเทคโนโลยีจากไต้หวัน ซึ่งมีโครงสร้างแข็งแรง ตาข่ายมีความละเอียดสามารถกันเพลี้ยและรังสียูวีจากแสงแดด และใส่แกลบดิบที่มีเชื้อราที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคทางดินไว้รอบโคนต้น

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here