เมื่อเร็วๆนี้ 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงในโครงการ “รักษ์ ปัน สุข” เพื่อนำขวดน้ำดื่ม PET และแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วยนวัตกรรมการแปรรูป ด้วยแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และนำรายได้จากโครงการมอบให้องค์กรสาธารณประโยชน์ต่อไป

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจากฯ กล่าวว่า ขณะนี้วิกฤติขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมระบุว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเฉลี่ยปีละประมาณ 2 ล้านตัน แต่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้เพียงปีละประมาณ 5 แสนตัน แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ใช้เท่าที่จำเป็นและหมุนเวียนกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ บางจากฯ จึง ได้ริเริ่มโครงการ “รักษ์ ปัน สุข” เพื่อลดขยะพลาสติก โดยได้ร่วมกับ เอสซีจี และอินโดรามา เวนเจอร์ส จัดทำโครงการผ่านกระบวนการทางธุรกิจของทั้ง 3 บริษัท ได้แก่

Greenovative Lube Packaging : นวัตกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่บางจากฯ และเอสซีจี ร่วมกันพัฒนาและนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย บางจากฯ จะรวบรวมแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วจากสถานีบริการน้ำมันบางจากและศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น FURiO Care เพื่อนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิดพิเศษที่พัฒนาสูตรและวิธีการผลิตโดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เพื่อใช้ผลิตแกลลอนน้ำมันหล่อลื่น มีเป้าหมายช่วยลดขยะแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านใบ

รีไซเคิลขวด PET : เป็นความร่วมมือระหว่าง บางจากฯ กับบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) โดยให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็นจุดรวบรวมขวดน้ำดื่ม PET จำหน่ายให้อินโดรามา เวนเจอร์ส นำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใย เพื่อใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า มีเป้าหมายช่วยลดขยะพลาสติกขวด PET ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านขวด

ในระยะแรก มีแผนจะทยอยเปิดจุดรวบรวมและรับบริจาคขวดน้ำดื่ม PET และแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 100 แห่ง โดยรายได้จากโครงการจะนำไปมอบให้กับองค์กรสาธารณประโยชน์ จึงขอเชิญชวนลูกค้าบางจากและประชาชนทั่วไปร่วมนำขวดน้ำดื่ม PET และแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วมาบริจาค เพื่อร่วมลดขยะพลาสติก ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และแบ่งปันความสุขให้สังคม

ด้าน นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม ซึ่งเอสซีจีพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์และยั่งยืน สำหรับโครงการ Greenovative Lube Packaging ถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาโมเดลการจัดการบรรจุภัณฑ์แกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว นับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิตแล้วยังช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยเอสซีจีได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์หรือพลาสติกในการศึกษาและพัฒนาสูตรการทำเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ และวิธีการผลิตให้คงคุณสมบัติและประสิทธิภาพเทียบเท่ากับแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นตามมาตรฐานของบางจาก รวมทั้งประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผู้ผลิตเม็ด ผู้ขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ให้บริการ ผู้บริโภค และผู้รับรีไซเคิล เพื่อให้วงจรการผลิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริงและสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างในการขยายผลไปสู่การจัดการบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ต่อไปอย่างยั่งยืน”

ขณะที่ คุณวิพิน กุมาร์ รองประธานอาวุโส – ด้านการตลาด ผลิตภัณฑ์ PET บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล กล่าวว่า จากปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น อินโดรามา เวนเจอร์ส ในฐานะผู้ผลิต PET เราตระหนักดีถึงภารกิจที่จะต้องจัดเก็บผลิตภัณฑ์และนำมารีไซเคิลอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่ง PET เป็นพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% ไอวีแอลเริ่มธุรกิจรีไซเคิล PET มาตั้งแต่ปี 2554 และได้ขยายการดำเนินงานครอบคลุม 3 ภูมิภาคหลักทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ส่วนในประเทศไทยโรงงานรีไซเคิลของบริษัทฯ อยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดยรีไซเคิลขวดนํ้า เป็นเส้นใยเส้นด้ายเพื่อนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และยังผลิตเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิลที่ปลอดภัยสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม แต่ปัจจุบันยังเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว โดยหวังว่าในอนาคตรัฐบาลไทยจะอนุญาตให้นำเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิลมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมีความสะอาดและมีคุณภาพทัดเทียมกับพลาสติก PET ใหม่ และหวังว่าความร่วมมือในโครงการรีไซเคิลขวด PET กับบางจากฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนถึงความจำเป็นของการรีไซเคิล และการคัดแยกและจัดเก็บอย่างถูกวิธีเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here