กกร. แถลงข่าวการประชุม เดือน ม.ค. 62 โดยมีรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ว่า แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายปี 2561 อย่างการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภายในประเทศ จะชะลอตัวลงบ้างในบางเดือนของไตรมาส 4 ปี 2561 แต่ที่ประชุม กกร. มองว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาส 4 ปี 2561 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 ปี 2561 ที่ขยายตัว 3.3% (YoY) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa-on-Arrivals ส่งผลให้ทั้งปี 2561 เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวราว 4.3%

ส่วนสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยว มีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 38.12 ล้านคน หรือ ขยายตัว 7.1% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

สำหรับในปี 2562 กกร. ประเมินว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2561 จากเครื่องชี้ด้านต่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งอาจเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนผลจากสงครามการค้าที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องพึ่งพิงการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐที่จะมีบทบาทนำการลงทุนของเอกชน ในขณะที่ ผลกระทบจากพายุปาบึกต่อเศรษฐกิจไทย คงเป็นปัจจัยระยะสั้น ซึ่งเชื่อว่าการฟื้นฟูความเสียหายและมาตรการเยียวยาต่าง ๆ จากทุกภาคส่วน จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้

ส่วนกรณีการเลื่อนการเลือกตั้ง น่าจะมีผลกระทบไม่มากนักต่อเศรษฐกิจ ซึ่งนักลงทุนยังมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐคงจะสามารถเดินหน้าได้ ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย จะอยู่ที่ปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก

ในระยะถัดไป นอกจากความคืบหน้าการเจรจาด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนแล้ว ปัจจัยที่ต้องติดตามซึ่งอาจทำให้ทิศทางตลาดการเงินโลกและค่าเงินบาทของไทย ยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถานการณ์ในสหรัฐฯ ทั้งเรื่องงบประมาณ เพดานหนี้ และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ตลอดจน ประเด็น Brexit ที่จะครบกำหนดในวันที่ 29 มีนาคมนี้

และจากทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับทีท่าในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น โดยเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เพียงครั้งเดียวในปีนี้

โดยสรุปแล้ว กกร. ยังคงประเมินว่า ในปี 2562 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 4.0% หรืออยู่ในกรอบประมาณการที่ 4.0-4.3% โดยที่การส่งออกน่าจะขยายตัวในกรอบ 5.0-7.0% จากหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรเป็นหลัก

นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว กกร. ยังให้ความสำคัญเรื่อง Training และ Re-skill แรงงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โดยได้เข้าร่วมให้ความเห็นกับภาครัฐในการประชุมที่ผ่านมาโดยเฉพาะในระดับอาชีวะ และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันโครงการระดับอาชีวะ

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ คือการสนับสนุนนโยบาย NEW S-curve ด้าน Aero Space Industry เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ในการเข้ามาติดต่อเพื่อการลงทุน ทาง กกร. จึงมอบหมายให้ สอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการประสานระหว่างนักลงทุน

ที่ผ่านมาการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐ เช่น โครงการ National Single Window (NSW) มีความล่าช้ากว่าที่คิด เนื่องจากไม่มีผู้รับผิดชอบหลักที่รับมอบหมายจากภาครัฐอย่างเป็นทางการ กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักอย่างชัดเจน เพื่อให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และเนื่องจากในปีนี้ 2562 (2019) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ASEAN ตามที่ทราบกัน ทาง กกร. ได้มีการจัดทำแผนกิจกรรมของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนงานดังกล่าว และได้มอบหมายให้ นายอรินทร์ จิรา รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานของ ASEAN Business Advisory Council เป็น Spokesperson ด้านงาน ASEAN ของ กกร.

ส่วนตามที่ สนช. ได้ผ่านร่าง พรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในเรื่องการชดเชยค่าเลิกจ้าง ซึ่งทาง กกร. มีความกังวลในแนวปฏิบัติทางบัญชี จึงมีมติที่จะนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมให้สภาวิชาชีพบัญชีนำไปใช้กับรูปแบบมาตรฐานทางบัญชีกับผู้ประกอบการในไทย

นอกจากนี้ กกร.จะมีการจัดสัมมนาให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เข้าใจในการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวและประโยชน์จากการทำบัญชีเดียวในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2562

จากปัญหารถบรรทุกและรถท่องเที่ยว มีความแออัดบริเวณด่านพรมแดนแม่สอด (สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1) หลายกิโลเมตร กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาขยายเวลาปิดด่านแม่สอดจากเวลา 20.30 น.เป็นเวลา 24.00 น. เพื่อลดความแออัดของการจราจรและอยากให้รัฐบาลเร่งรัดเปิดด่าน และรองรับการใช้ประโยชน์จากสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ที่จะเปิดใช้ในปี 2562 นี้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here