นายถวิล สุวรรณมณี นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย นำทีมกรรมการบริหารสมาคมฯ และสื่อสมาชิก เข้าพบ และสัมภาษณ์พิเศษ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทยคนใหม่ ถึงนโยบายการบริหาร แผนพัฒนาสหกรณ์ฯ และโครงการส่งเสริม ช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ พร้อมทั้ง เปิดเผยงานเร่งด่วนตั้งทีมกฎหมายช่วยสหกรณ์ ทั่วประเทศ
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุดที่ 25 จะเน้นบูรณาการทำงาน เพื่อส่งเสริม และพัฒนากิจการสหกรณ์ทุกประเภท ให้มีความเจริญก้าวหน้า สู่ความเข็มแข็ง โดยดำเนินการตามมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ที่จะส่งเสริม เผยแพร่ แนะนำ ช่วยเหลือ ประสานงาน ให้การศึกษา ฝึกอบรม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหกรณ์ทั้งภายใน และต่างประเทศ  ซึ่งเน้นครอบคลุมครบทุกมิติ โดยมุ่งหวังให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง พร้อมเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ ได้วางกรอบนโยบายการพัฒนาสันนิบาตสหกรณ์ฯ และขบวนการสหกรณ์ของไทย จำนวน 6 ด้าน คือ
1. ปฏิรูปสันนิบาตสหกรณ์ฯ เน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ปฎิรูประบบบริหารจัดการงบประมาณของสันนิบาตสหกรณ์ฯ ให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ระบบธรรมาภิบาล พร้อมจัดตั้งกองทุนกลาง  และพัฒนาสู่การเป็นธนาคาร (Coop Bank)  ปฎิรูปและยกระดับระบบการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสหกรณ์ โดยมีการจัดตั้ง  “วิทยาลัยสหกรณ์” เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาคน  พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของขบวนการสหกรณ์  ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา จัดหลักสูตรอบรม “ฟรี” ที่เอื้อต่อการ “พัฒนานักสหกรณ์มืออาชีพ”  ปฏิรูปและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (DATA CENTER)  ด้วยระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย ในยุคสหกรณ์  4.0 รวมทั้งการปฎิรูประบบการเลือกตั้งของสันนิบาตสหกรณ์ฯ  เพื่อให้ได้ ”คนเก่ง คนดี และมีคุณธรรม” เข้าสู่ระบบ“อย่างมืออาชีพ”
 2. การกระจายอำนาจบริหาร โดยการจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์จังหวัด หรือเครือข่ายสหกรณ์ระดับจังหวัด ตามบริบทของพื้นที่กระจายอำนาจ ซึ่งเครือข่ายสหกรณ์ จะมีอำนาจในการบริหารจัดการแทนสันนิบาตสหกรณ์ฯ กระจายการจัดการฝึกอบรมตามภูมิภาค เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสร้างความใกล้ชิดระหว่างพี่น้องสหกรณ์ด้วยกัน
3. การจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม โดยการจัดสรรงบประมาณ ร้อยละ 15-30 ให้แก่เครือข่ายสหกรณ์ฯ อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม เพื่อใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทำบัญชีรายจ่ายตามความเป็นจริง และสะสมเงินที่เหลือเป็นกองทุนต่างๆ  เพื่อพัฒนาสันนิบาตสหกรณ์ฯ และขบวนการสหกรณ์สู่ความเข้มแข็ง และมั่นคง 4.การแก้ไขกฎหมายสหกรณ์ โดยการพัฒนาระบบกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบปฎิบัติ เป็นผู้นำขบวนการสหกรณ์ในการแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุง เพิ่มเติมข้อบังคับฯ ประกาศนายทะเบียน   ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาสหกรณ์ พร้อมจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สหกรณ์ทุกประเภท
 4. การแก้ไขกฎหมายสหกรณ์ โดยการพัฒนาระบบกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบปฎิบัติ เป็นผู้นำขบวนการสหกรณ์ในการแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุง เพิ่มเติมข้อบังคับฯ ประกาศนายทะเบียน   ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาสหกรณ์ พร้อมจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สหกรณ์ทุกประเภท
5. การเอื้ออาทรกลุ่มรากหญ้า  เน้นการพัฒนาสู่สากลด้วยระบบการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการของสหกรณ์  สร้างต้นแบบเครือข่ายสหกรณ์  พัฒนาระบบการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการของสหกรณ์ ให้สามารถเชื่อมโยงทั้งด้านการเงิน ทุน การผลิต  กาแปรรูป การตลาด  และการกระจายสินค้า สร้างตราสินค้า Brand Co-op  ที่จะส่งเสริมการสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างสหกรณ์ โดยใช้ Brand ตามที่องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์สากล หรือ องค์การ ICA ได้ประกาศรณรงค์ให้สมาชิกองค์กรสหกรณ์ทั่วโลกใช้เครื่องหมายการค้า Coop  ซึ่งขณะนี้ทางสันนิบาตสหกรณ์ฯ ได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Coop กับกรมทรัพย์สินทางปัญหา และกระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสันนิบาตสหกรณ์ฯ ได้นำเครื่องหมายการค้า Coop  ใช้ในบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มของสหกรณ์การเกษตรดอนตูม จำกัด และอยู่ในช่วงประชาสัมพันธ์ให้สหกรณ์ทั่วประเทศใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว กระจายสู่ตลาดอย่างครบวงจร ให้ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ
6. การพัฒนาเครือข่ายสัตตะสหกรณ์  สร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ ทั้ง 7  ประเภท ขยายเครือข่ายสหกรณ์ระดับชาติในรูปแบบ “สภาสหกรณ์แห่งชาติ” ผลักดันการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์ เช่น ชุมนุมสหกรณ์บริการแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์การยางฯ จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฯ จำกัด หรือ  การจัดตั้งเป็นประเภท สหกรณ์เอนกประสงค์  สร้างเครือข่ายสหกรณ์ระดับจังหวัดให้มั่นคงในรูปแบบ “ชุมนุมสหกรณ์จังหวัด” ภายใต้หลักการและแนวคิด “สหกรณ์ก้าวไกล ด้วยน้ำพระทัยในหลวง” ส่งเสริมความร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภท ให้มีความเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ
 ปธ.สันนิบาตสหกรณ์ฯคนใหม่ เพิ่มเติมว่า เนื่องจากในปัจจุบัน บุคลากรทางสหกรณ์ในประเทศส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ความเข้าใจทางกฎหมายและการบัญชี อีกทั้งบุคลากรทางกฎหมายส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจบริบทของสหกรณ์ ดังนั้นเพื่อให้การส่งเสริมกิจการสหกรณ์เป็นไปตามแผนงานและงบประมาณประจำปี 2562 และสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ฯ ชุดที่ 25 จึงได้เตรียมจัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษา และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สหกรณ์ เพื่อดำเนินการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือสหกรณ์ด้านกฎหมายและบัญชี แบ่งออกเป็น 3 ภารกิจ ได้แก่
1. งานให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางกฎหมาย เช่น การให้คำปรึกษา การร่างและตรวจพิจารณาสัญญา การร่างคำอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง เป็นต้น 2.งานให้คำปรึกษาและช่วยเหลือด้านบัญชี เช่น การให้คำปรึกษา แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้อง และ 3.งานเผยแผ่ความรู้ทางกฎหมายและบัญชี ทั้งนี้สันนิบาตสหกรณ์ฯ ยังได้เปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามความจำเป็นแก่ภาระงาน ซึ่งส่วนหนึ่งจะสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการให้บริการวิชาการทางกฎหมาย
 “การจัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษาและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สหกรณ์นั้น เพื่อให้สหกรณ์และบุคลากรของสหกรณ์มีหน่วยงานหลักในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและบัญชีแก่สหกรณ์ ทำให้ปัญหาการดำเนินงานของสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและบัญชีลดลง สหกรณ์และบุคลากรของสหกรณ์ก็จะมีความรู้พื้นฐานทางกฎหมายและบัญชีมากขึ้น ทำให้การดำเนินงานของสหกรณ์มีประสิทธิภาพและคุ้มครองประโยชน์ของสหกรณ์มากขึ้น ต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่สหกรณ์ที่มีต่อสันนิบาตสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นหัวขบวนของสหกรณ์ในประเทศว่า สามารถพึ่งพาและนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า ต่อขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทยต่อไปได้” ประธานฯสันนิบาตสหกรณ์ กล่าวในตอนท้าย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here