กระทรวงอุตฯ เดินหน้าตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เร่งดำเนินการตามมาตรฐานการระบายฝุ่นจาก รง. พร้อมผลักดันมาตรฐานบังคับสำหรับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการบริหารการป้องกันและแก้ไขปัญหา (ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน : PM 2.5) เดินหน้าตรวจสอบตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ กุมภาพันธ์ 2562) โดยระดมเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจอย่างเข้มข้นและเฝ้าระวังโรงงานเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นเสี่ยงทั่วประเทศ โดยตรวจแล้วรวมจำนวน 2,095 โรง ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) แต่พบการกระทำผิดในส่วนอื่นๆ จำนวน 45 โรง กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้แก้ไขปรับปรุงตามมาตรา 37 จำนวน 35 โรง และสั่งให้หยุดประกอบกิจการ จำนวน 3 โรง อื่นๆ จำนวน 7 โรง

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งดำเนินการตามมาตรฐานการระบายฝุ่นจากโรงงานรวม  ไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สำหรับเชื้อเพลิงน้ำมันเตา) และ 320 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ (สำหรับเชื้อเพลิงถ่านหิน) ซึ่งกระทรวงฯ มีการดูแลเรื่องฝุ่นละอองที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม 3 ระดับ ดังนี้

1. กลุ่มโรงงานทั่วไป เป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะโดยเฉพาะฝุ่นละออง ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบบำบัด 4 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (Wet Scrubber) ใช้น้ำหรือของเหลวสเปรย์ลงมาจากด้านบนสวนทางกลับทิศทางการไหลของอากาศ 2) เครื่องดักฝุ่นแบบผ้ากรอง (Bag Filter) 3) ไซโคลนดักฝุ่น (Cyclone) 4) เครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator ESP)

2. กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะมีการติดตั้งระบบบำบัดต่างๆ แล้วยังมีผู้ควบคุมเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์ในการควบคุมระบบบำบัดต่างๆ ปัจจุบันมีโรงงานประมาณ 2,000 โรง ซึ่งจากผลการตรวจวัดฝุ่นละอองของโรงงานในกลุ่มนี้ พบว่ามีค่าการระบายฝุ่นรวมเฉลี่ยประมาณ 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ

3. กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง เป็นโรงงานที่มีแหล่งกำเนิด 10 ประเภท เช่น โรงงานไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 29 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงงานที่มีหม้อน้ำขนาด 30 ตันไอน้ำต่อชั่วโมงขึ้นไป โรงงานผลิตซีเมนต์ ปูนขาว ฯลฯ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ พ.ศ.2544 ซึ่งจะต้องมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems :CEMS) โดยมีการตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันโรงงานกลุ่มนี้ มีประมาณ 600 โรง โดยแบ่งเป็น การตรวจสอบ CEMS Online โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 90 โรง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 59 โรงงาน ตรวจสอบโดยโรงงานและเก็บข้อมูลไว้ที่โรงงาน จำนวน 451 โรง ซึ่งจากผลการตรวจวัดฝุ่นละอองของโรงงานในกลุ่มนี้ พบว่ามีค่าการระบายฝุ่น 2-50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เกินมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้เตรียมเสนอที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตรถยนต์ใหม่ในประเทศ ต้องผ่านมาตรฐานยูโร 5 ภายใน 1-2 ปี และกำหนดให้โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานยูโร 6 ในเบื้องต้นได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการออกมาตรฐานบังคับสำหรับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นมาตรการที่ค่ายรถต้องดำเนินการ

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ประสานขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กลุ่มปตท. และ กทม. เพื่อสร้างเครื่องต้นแบบ “ระบบขจัดมลพิษทางอากาศแบบเคลื่อนที่” แบบชนิด Wet Scrubber ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ช่วยลดความหนาแน่นฝุ่นละออง ช่วยลดฝุ่นละอองทั่วไปจากการก่อสร้าง และช่วยลดไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ บนท้องถนนพื้นผิวการจราจรที่หนาแน่นให้มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น เพิ่มอีก  10 เครื่อง กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะนำไปติดตั้งช่วยขจัดมลพิษทางอากาศให้บริการประชาชนในพื้นที่สวนสาธารณะต่างๆ ของกรุงเทพ และจุดที่กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบแล้วพบว่ามีระดับอากาศที่มีมลภาวะสูงกว่ามาตรฐานต่อไป

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here