สรท. เผยการส่งออกไทย เดือน ม.ค. 62 ยังหดตัวลง ขณะที่การนำเข้าขยายตัว ส่วนยางพารามีการหดตัวทั้งด้านราคาและปริมาณอย่างต่อเนื่อง ทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ข้อตกลงการค้า EU-Vietnam FTA การถูกตัดสิทธิ GSP จากประเทศญี่ปุ่น ความตกลง USMCA ต่อกลุ่มยานยนต์และยางรถยนต์ เนื่องจากมีเงื่อนไขให้การผลิตรถยนต์ต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศถึง 75% แนะภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อเร็วๆนี้ โดยระบุว่า การส่งออกเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว –5.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 616,104 ล้านบาท หดตัว 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 23,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 14.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 756,664 ล้านบาท ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมกราคม 2562 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 140,561 ล้านบาท

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนมกราคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ -2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่มที่ยังคงมีการเติบโตในตลาด แต่ยางพารามีการหดตัวทั้งทางด้านราคาและปริมาณอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ข้อตกลงการค้า EU-Vietnam FTA การถูกตัดสิทธิ GSP จากประเทศญี่ปุ่น ความตกลง USMCA ต่อกลุ่มยานยนต์และยางรถยนต์ เนื่องจากมีเงื่อนไขให้การผลิตรถยนต์ต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศถึง 75% นอกจากนั้นแล้วการเติบโตของสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงเพราะไทยยังไม่มีสินค้าใหม่เพื่อช่วยในการส่งออก และสิ่งที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างมากในช่วงปัจจุบันคือ แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก

สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี 62 โต 5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.0 (± 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 มี.ค. 62 – 31.84 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)  โดยมี ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) บรรยากาศการค้าโลก ความผันผวนของบรรยากาศการค้าโลกจากทั้งภาวะของสงครามการค้า การเจรจา Brexit ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสิทธิประโยชน์ทางการค้า และความไม่สงบระหว่างประเทศอินเดียและปากีสถาน ที่ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อภาคการส่งออกและการขนส่งสินค้าทางอากาศ 2) ความผันผวนของค่าเงิน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการเสนอราคาที่ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง และต้นทุนที่ต้องจัดการมากขึ้น ขณะที่รายได้ในรูปของเงินบาทที่ลดลงทำให้ผู้ลงทุนอาจจะทบทวนการลงทุน 3) มาตรการกีดกันทางการค้า (NTB, NTM) จากต่างประเทศ อาทิ การควบคุมหรือเพิ่มมาตรการตรวจสอบสินค้าจากประเทศเวียดนามโดยเฉพาะกลุ่มสินค้ารถยนต์และเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการถูกสอบสวนการทุ่มตลาด (Anti duming) ในสินค้ากลุ่มหม้อแปลงไฟฟ้าจากออสเตรเลีย และตามมาตรการใหม่ของทางสหรัฐ (US FSMA) ที่ต้องผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนกับตัวแทนฝั่งสหรัฐก่อนจะมีการนำเข้าหรือการแก้ไขข้อมูลการนำเข้าจากเดิมที่ทางผู้ส่งออกสามารถแก้ไขได้เองและต้องมีการคิดค่าบริการเพิ่มเติมจากตัวแทน 4) การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรีและการต่อรองสิทธิพิเศษทางด้านภาษีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและไทย ขณะที่เวียดนามที่กำลังจะทำ FTA Vietnam- EU และข้อกฎหมายภายในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก รวมทั้งการถูกตัดสิทธิ GSP จากประเทศญี่ปุ่นภายในเดือนเมษายน หลังจากไทยถูกตักสิทธิ์ GSP จากทั้งอเมริกาและยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วย

1) ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไป จนกระทบถึงต้นทุนการส่งออกโดยการพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเครื่องมือประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจากปัจจัยของการแข็งค่าของเงินบาทที่ไม่อาจคาดการณ์ได้มารองรับ ยกตัวอย่างเช่น  1.1 บริการบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือ Foreign Currency Deposit: FCD เพื่อฝากเงินตราต่างประเทศไว้กับธนาคารพาณิชย์ จนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่เกณฑ์ที่ยอมรับได้ถึงจะแลกเป็นเงินบาท 1.2 การใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (สนับสนุนให้มีการ Invoicing เป็นเงินบาทและเงินตราสกุลท้องถิ่นที่มีการทำข้อตกลงให้ดำเนินการร่วมกัน อาทิ หยวน มาเลเซียนริงกิต อินโดนีเซียนรูเปียะห์ และญี่ปุ่นเยน) และเป็นทางเลือกในการชำระเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ รวมถึงขอให้มีการขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศสมาชิกอาเซียนในฐานะ Home Market ให้สามารถใช้ L/C ได้เพิ่มมากขึ้น และ 1.3 การประกันค่าเงิน Fx-Option หรือ สัญญา Fx-Forward ประกันความเสี่ยง ซึ่งเป็นโครงการที่ ธปท.ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกในระดับ SME มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 ของการดำเนินโครงการ โดยมีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น วงเงินค้ำประกันเพิ่มมากขึ้น – ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารความเสี่ยงค่าเงิน โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับสิทธิในการได้รับวงเงินค่าธรรมเนียมในการทำประกันความเสี่ยง 50,000 บาท/กิจการ (สิ้นสุดโครงการ 29 พ.ย. 62)
2) Trade mission / Trade Fair การเปิดตลาดใหม่หรือตลาดทดแทน (Market diversification) เป็นสิ่งที่ต้องทำในช่วงความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณถดถอยและความไม่แน่นอนของสงครามทางการค้า เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและหาตลาดรองรับสินค้า หรือการเปิดกลุ่มผู้บริโภครายใหม่ให้เหมาะสมแต่ละกลุ่มสินค้า เช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เน้นเปิดตลาดไปยังกลุ่มตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นต้น กลุ่มพลาสติก เน้นเปิดตลาดสินค้าในประเทศเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยมีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้คัดครองผู้ประกอบการในขั้นต้นเพื่อให้สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภคได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ
3) การเจรจา FTA ภาครัฐควรเร่งเจรจาเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากไทยได้เริ่มถูกปฏิเสธในการใช้สิทธิ GSP อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งการเจรจา FTA ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าที่เริ่มทยอยตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น ไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร RCEP และ CPTPP เป็นต้น

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here