ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจธุรกิจโชห่วย รับผลกระทบจากคู่แข่งค้าปลีกค้าส่งยุคใหม่รุกคืบ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ขาดความรู้ ชี้ปมส่วนใหญ่ยังไม่ปรับตัว เพราะไม่เห็นความสำคัญ และมีข้อจำกัดด้านเงินทุน อีกทั้ง มีภาระหนี้ทั้งใน-นอกระบบ เฉลี่ย 4.62 แสนบาทต่อราย  ด้าน “SME D Bank” ประกาศเติมทักษะเพิ่มขีดความสามารถ คู่เติมทุนดอกเบี้ยต่ำ ติดปีกโชห่วยเติบโตอย่างเข้มแข็งมั่นคง

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจ “สถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย” ว่า ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  ร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือ “โชห่วย” มีจำนวน 395,006 ราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  ประสบปัญหาคล้ายกัน คือ มีคู่แข่งใหม่ ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่  ค้าขายออนไลน์ และโมเดิร์นเทรด  ต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป  ขาดประสิทธิภาพด้านการตลาด บัญชี การบริหารจัดการพื้นที่ขายสินค้า  ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และรายได้ลดน้อยลง

การสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการร้านโชห่วย  1,246 ราย   พบว่า 85.99% ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และ 14.01%  ในรูปแบบนิติบุคคล  โดย 90.10% เป็นเจ้าของคนเดียว และส่วนใหญ่ 33.09% ทำอาชีพนี้มา 7-10 ปี  มีรายได้เฉลี่ย 51,665.94 บาทต่อเดือน ซึ่ง 60.45% มีรายได้จากการเปิดร้านโชห่วยเท่านั้น โดยต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 4 คน

ทั้งนี้ 31.7% จะใช้บ้าน/ทาวน์เฮาส์ทำเป็นร้าน และส่วนใหญ่ 28.59% ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัด 61.6% จะขายสินค้าจิปาถะ ส่วน 38.4% ขายสินค้าเฉพาะอย่าง ด้านแหล่งที่มาของสินค้า 41.3%จากพนักงานขาย 31.2%ซื้อจากห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต และ 27.5%ซื้อจากร้านค้าส่งขนาดใหญ่ในตัวเมือง โดยกลุ่มตัวอย่าง 61.7% บอกว่า มีรายได้จากการขายสินค้าในร้านเท่านั้น ส่วน 38.3% มีรายได้เสริมจากบริการอื่นๆ ด้วย เช่น ตู้หยอดเหรียญ เติมเงินมือถือ รับชำระบิล ถ่ายเอกสาร/รับ-ส่งแฟกซ์ และอื่นๆ เป็นต้น ด้านการออมนั้น เฉลี่ย 7,282.66 บาทต่อเดือน ซึ่ง 59.16% ออมทุกเดือน

สำหรับผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจโชห่วยกับคู่แข่งในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แข่งขันได้น้อย  เมื่อเทียบกับการขายออนไลน์  ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ และโมเดิร์นเทรด ทั้งในเรื่องราคาสินค้า บริการ สภาพสินค้า เป็นต้น

แม้จะแข่งขันได้น้อย ทว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 24.48% ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย เพราะคิดว่า ไม่มีความจำเป็น และมีทุนจำกัด  และ 39.77% มีปรับตัวน้อย เพราะบอกว่ามีลูกค้าเก่าอยู่แล้วกับไม่มีทุนจะพัฒนา ส่วน 22.62% ปรับตัวระดับปานกลาง พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า ขณะที่ มีเพียง 13.12% ปรับตัวอย่างมากเพื่อจะยกระดับธุรกิจ ปรับเปลี่ยนร้านให้ทันสมัย สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า  เช่น ปรับปรุงร้านใหม่  เพิ่มโปรโมชั่นหรือบริการเสริมต่างๆ  มีการระบุราคาที่ชัดเจน และมีสินค้าหลากหลาย ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเสมอ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 23.97% มีการค้าขายออนไลน์เสริม เพราะเห็นถึงพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ส่วน  76.03% ยังไม่มีการขายออนไลน์เสริม จากเหตุผล เช่น มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยอดขายดีอยู่แล้ว ไม่รู้ทำอย่างไร  คิดว่าสินค้าที่ขายไม่โดดเด่น และกลัวถูกโกง เป็นต้น

ด้านสถานภาพธุรกิจร้านโชห่วยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่บอกว่า ยอดขายเท่าเดิม และคิดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้ายังเท่าเดิม  เมื่อถามถึงสาเหตุที่ธุรกิจได้การตอบรับดีจากลูกค้า ได้แก่ สินค้าได้มาตรฐาน พนักงานบริการดี สินค้าราคาเหมาะสม สินค้าหลากหลาย และหาง่าย ตามลำดับ

ส่วนต้นทุนในการทำธุรกิจร้านโชห่วยนั้น มาจากค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าขนส่ง รวมเฉลี่ยที่ 21,761.48 บาทต่อเดือน  โดย 53.13% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 462,075.86 บาท อัตราผ่อนชำระเฉลี่ย 11,681.11 บาทต่อเดือน  แยกเป็นหนี้ในระบบจากสถาบันการเงิน 218,723.41 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 37,534.81 บาท และเป็นหนี้นอกระบบจากการกู้ยืมนายทุน ญาติ พี่น้อง หรือแชร์ 347,382.00 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน  5,754.52 บาท   ทั้งนี้ ภาระหนี้ในปัจจุบันนั้น ทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเหตุผล เช่น นำไปขยายธุรกิจ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซื้อสินค้า ชำระเงินกู้ ลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่  เป็นต้น   ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่บอกว่า ภาระหนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจ

เมื่อถามถึงความต้องการสินเชื่อ และการเข้าถึงสินเชื่อ   ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 38.13% ประเมินศักยภาพเข้าถึงได้มาก ซึ่งภายใน 1 ปีนี้ จำนวน 47.99% มีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ซื้อสินค้าไปขาย ปรับปรุงร้าน ขยายธุรกิจ ชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 182,500 บาท โดย 57.06% บอกว่าสามารถกู้ในระบบได้ ทว่า 42.94% คิดว่าไม่สามารถจะกู้เงินในระบบได้ เพราะสาเหตุ เช่น หลักประกันไม่พอ  ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางบัญชี  โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคาร เป็นกิจการใหม่ และไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคาร เป็นต้น

ด้านความต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงเกี่ยวกับสินเชื่อ คือ ปรับลดดอกเบี้ย ขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้  ระยะในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน  และหากได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ 51.69% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น 31.16% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับกำไรที่จะเพิ่มขึ้น และ 17.15% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ 1.กระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจรวมไปถึงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น   2.การลดต้นทุน การตั้งราคา และการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ 3.การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้มีความสามารถและทันสมัย และ 4.ด้านการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ คลองชลประทาน ราคาสินค้าเกษตร  ส่วนข้อเสนอแนะ และสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว). หรือ SME D Bank ได้แก่ ลดขั้นตอนในการทำธุรกรรม เช่น 1.การยื่นเอกสาร ข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ  2.ลดอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ 3.ปล่อยเงินกู้ระยะยาว สนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการและอาชีพต่างๆ และ 4.มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความรู้ความเข้าใจ และบุคลากรในองค์กร

นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ SME D Bank  กล่าวว่า ธุรกิจร้านโชห่วยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดชุมชน มีจำนวนถึงเกือบ 4 แสนราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในปัจจุบันด้วยการแข่งขันสูง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป   จำเป็นต้องปรับตัวยกระดับธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถธุรกิจ และเพิ่มรายได้  อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่า ยังมีผู้ประกอบการร้านโชห่วยจำนวนมาก ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย รวมถึง มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน จึงยากที่จะพัฒนาธุรกิจ

ดังนั้น ธนาคารจึงดำเนินกิจกรรมยกระดับธุรกิจโชห่วยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่ง “เติมทักษะ” ให้ความรู้ เช่น ด้านบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ ระบบบัญชี และขยายตลาดออนไลน์ เป็นต้น ตามด้วยการ “เติมทุน”  ผ่านโครงการ “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” (Local Economy Loan)  สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วย ค้าปลีกค้าส่ง รวมถึง ธุรกิจเกษตรแปรรูป อาชีพอิสระ ท่องเที่ยวชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ปรับปรุงยกระดับธุรกิจให้สะดวกทันสมัย  โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี  บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก  3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  นอกจากนั้น “เติมคุณภาพชีวิต” สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยและครอบครัวเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ  สร้างความมั่นคงในชีวิต นำไปสู่สังคมอยู่ดีมีความสุข

“ธนาคารจะนำข้อเสนอแนะจากผลสำรวจครั้งนี้ไปพัฒนาเติมทักษะความรู้ให้ตรงกับความต้องการ และความจำเป็นของผู้ประกอบการร้านโชห่วย รวมถึง พัฒนาบริการทางการเงิน สนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วย เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และมีขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น ดำเนินธุรกิจอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืน”  นายพงชาญ กล่าว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here