การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลงพื้นที่ให้ความรู้และติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. แก่พนักงาน กยท. เขตภาคใต้ตอนล่าง และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ นำร่องทดสอบการใช้โดรนพ่นสารกำจัดเชื้อรา ยับยั้งการแพร่กระจายของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในพื้นที่ 300 ไร่ พร้อมเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือวิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เตรียมจ่อเสนอบอร์ด กยท. หามาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม ในเดือน พ.ย. นี้

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ในเขตพื้นที่ปลูกยางพาราภาคใต้ตอนล่างในขณะนี้ว่า หลังจากที่ทาง กยท. ได้รับรายงานการระบาดของโรคใบร่วงชนิดนี้ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางแห่งแรกที่พบการติดเชื้อ คาดว่า เป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่เคยเกิดการระบาดในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย และแพร่ระบาดทางลมจนมาถึงพื้นที่ชายแดนของไทยนั้น ล่าสุด กยท. ได้เร่งสั่งการให้มีการสำรวจความเสียหายรวมถึงเก็บตัวอย่างของเชื้อเพื่อหาวิธีการป้องกันและรักษา โดยมอบหมายให้ทางสถาบันวิจัยยาง กยท. ลงพื้นที่อบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในพื้นที่

นอกจากนี้ กยท. มองว่า การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่นี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป เนื่องจากเชื้อราชนิดนี้สามารถแพร่ระบาดสู่พืชชนิดอื่นได้ไม่ใช่แค่เฉพาะยางพาราเท่านั้น ในส่วนของ กยท. ได้พยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป รวมถึงจะมีการเสนอมาตรการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางที่สวนเสียหายจากเชื้อราชนิดนี้ ตาม พรบ. การยางแห่งประเทศไทย 49(5) โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ กยท. เพื่อหาระเบียบในการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ด้าน นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13  14 พฤศจิกายน 2562 กยท. โดยสถาบันวิจัยยาง ได้จัดโครงการอบรมแนวทางการสำรวจและติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจถึงที่มาของโรค การแพร่ระบาด และวิธีป้องกันในเบื้องต้น แก่พนักงานของ กยท. ในพื้นที่เขตภาคใต้ตอนล่าง และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรค เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้ โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่คาดว่าเกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. เป็นหลักและอาจมีเชื้อราชนิดอื่นร่วมด้วย พบการแพร่ระบาดในสวนยางพาราประมาณ 400,000 ไร่ หรือประมาณ 40 ของพื้นที่ปลูกยางในจังหวัดนราธิวาสทำให้ผลผลิตยางลดลงกว่า 30 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลวิธีการป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดนี้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากเป็นโรคใหม่ กยท. โดยสถาบันวิจัยยาง ได้เร่งดำเนินการทดลอง ศึกษาวิจัยและหาทางป้องกันอย่างเต็มที่ เบื้องต้นจึงแนะนำเกษตรกรชาวสวนยางให้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ต้นยาง และหากพบต้นยางมีอาการของโรคให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของ กยท.เพื่อเข้าตรวจสอบ หากพบว่า ติดเชื้อราชนิดนี้ให้ใช้สารกำจัดเชื้อรา เช่น เบโนมีล โพรปิเนป แมนโคเซป คลอโรธาโลนิล เฮกซาโคนาโซล หรือ ไทโอฟาเนต-เมธิล ฉีดพ่นทรงพุ่มให้ทั่วทั้งแปลงโดยเครื่องฉีดพ่นแรงดันสูง

จากนั้น คณะผู้บริหารของ กยท. ได้ลงพื้นที่สวนยางพาราของ นายสุวิทย์ วัลลิโกเกษตรกรชาวสวนยางในตำบลฆอเลาะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เพื่อทำการทดสอบการพ่นสารเคมีผ่านทางเครื่องอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ซึ่งสามารถบรรจุสารเคมีขนาด 10 ลิตร โดยผสมสารกำจัดเชื้อรา โปรปิโคนาโซล + ไดฟีโนโคนาโซล ผสมกับน้ำและสารจับใบ บินพ่นยอดยางในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 300 ไร่ ภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะพ่นซ้ำให้ครบ 3 ครั้ง และจะติดตามผลต่อไป

ด้าน นายสุวิทย์ วัลลิโก เปิดเผยว่า สวนยางของตนเองเริ่มมีอาการใบร่วง โดยสังเกตเห็นว่าใบยางแก่จะเกิดจุดสีน้ำตาลที่ใบและเริ่มทิ้งใบ และร่วงมากขึ้นเมื่อฝนตก ตนจึงแจ้งไปยัง กยท. สาขาสุไหงโกลกเพื่อเข้ามาตรวจสอบจึงทราบว่าเกิดจากเชื้อราชนิดนี้ เบื้องต้นทาง กยท. ได้เข้ามาให้คำแนะนำการดูแลสวนยางรวมถึงนำโดรนเข้ามาสาธิตการพ่นสารกำจัดเชื้อราดังกล่าว ถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและสร้างความมั่นใจต่ออาชีพการทำสวนยางต่อไป

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here