กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ตัวเลขการส่งออก เม็ดพลาสติกชีวภาพ (PLA) ของไทย ปี 2564 มีการขายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับที่ 3 ของโลก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก ได้วิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยปี 2564 โดยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีมูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกประมาณ 1.043 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.1% มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.01 ล้านล้านบาท โดยไทยจะมีการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดประมาณ 2.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 2.7%ที่มีการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดประมาณ 2.53 แสนล้านบาท

สำหรับเม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ เม็ดพลาสติกชนิดพอลิแลคติคแอซิด (PLA) โดยคาดว่า ปี 2564 มูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% จะสร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยเม็ดพลาสติก PLA จะมีการนำไปผลิตเป็นสินค้าประเภทใช้ครั้งเดียว เช่น แก้วน้ำ หลอด ช้อน-ส้อม และในต่างประเทศมีการนำไปผลิตก้นกรองบุหรี่ เป็นต้น เนื่องจากมีสมบัติในการย่อยสลายทางชีวภาพได้ภายใน 6 เดือน ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม  จึงนับเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยในอนาคต

แนวโน้มการใช้พลาสติกชีวภาพที่จะเติบโตขึ้นนี้สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือบีซีจี โมเดล ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นสถาบันพลาสติก จึงนำโมเดลดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญ
นายสุริยะ กล่าว

ด้าน นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า ปี 2563 สถาบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เศรฐกิจ จำนวน 36 ผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงมือพลาสติกย่อยสลายได้  สารลดการอักเสจากชานอ้อย แผ่นกรองฝุ่นย่อยสลายได้ใช้กับหน้ากากอนามัย เป็นต้น  พัฒนาบุคลากรในสาขาพลาสติกชีวภาพจำนวน 323 คน และเพิ่มผลิตภาพให้แก่สถานประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จำนวน 30 ราย ซึ่งช่วยลดการสูญเสียจากการผลิตคิดเป็นมูลค่ากว่า 17.9 ล้านบาท ในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันพลาสติก มีบริการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงคุณสมบัติของวัตถุดิบชีวภาพ การพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาทักษะผ่านระบบออนไลน์ www.plaskills.com ซึ่งเป็นการส่งเสริมการปรับตัวของผู้ประกอบการให้สอดรับกับกระแสความต้องการของโลก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียน ประเทศไทยมีขยะพลาสติกปีละกว่า 2 ล้านตัน ถูกนำกลับมารีไซเคิลเพียง 0.5 ล้านตัน ที่เหลือต้องไปอยู่ในหลุมฝังกลบและบางส่วนหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาที่ส่งผลกระทบในระบบนิเวศ จึงเกิดโครงการ มือวิเศษ x วน  ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันพลาสติก ร่วมกับ พีพีพี พลาสติก(Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) และโครงการ วน (WON project) มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐที่จะนำพลาสติกเป้าหมายกลับมารีไซเคิลให้ได้ 100% ภายในปี 2570 นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกพลาสติกจากต้นทางและพัฒนาระบบซื้อขายพลาสติกอย่างครบวงจร โดยปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งจุดรับขยะพลาสติก ประเภท PE ฟิล์มที่ใช้แล้ว กว่า 350 จุด มีปริมาณขยะพลาสติกที่รวบรวมได้เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลใช้ใหม่กว่า 10,000 กิโลกรัม และกระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนจะให้สถาบันพลาสติกและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องติดตั้งจุดรับขยะเพิ่มขึ้นในประเทศ เพื่อรวบรวมพลาสติกที่ยังไม่กลับเข้าสู่ระบบซึ่งมีอยู่มากถึง 1.9 ล้านตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

ด้านเศรษฐกิจสีเขียว สถาบันพลาสติกนำเทคโนโลยีให้ความร้อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากการเหนี่ยวนำของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มาใช้กับเครื่องขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องจักรได้มากกว่า 40% นอกจากนั้นยังมีการนำระบบอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ มาใช้ในการติดตามประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อลดอัตรการสูญเสียทางการผลิต ซึ่งสามารถแสดงผลแบบเรียลไทม์ และที่สำคัญนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรเดิมที่มีอยู่ได้ จะช่วยลดการลงทุน ลดต้นทุนการผลิต ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here