สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) อันมีผู้แทนจาก 3 หน่วยงานประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หรือในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สภาบัน (กกร.)’ ตอกย้ำบทบาทในการเป็นตัวแทนของภาคเอกชน อันมีหน้าที่ส่งมอบข้อเสนอจากภาคเอกชนสู่นโยบายบนเวทีผู้นำเอเปค จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว 2 องค์ประกอบสำคัญ ภายใต้แนวคิด “Business of the People” ที่จะทำให้คนไทยเข้าใจในบทบาทและความสำคัญของทุกคน ที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันได้แก่ ผลสำรวจจากภาคธุรกิจ หรือBusiness of the People Poll และภาพยนตร์สั้น ที่ฉายภาพของตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน โดยมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการและประชาชนทุกคนเกิดการรับรู้ และได้รับแรงบันดาลใจในการต่อยอดไปสู่การลงมือทำ เพื่อประโยชน์ของเราทุกคน

ด้วยปี 2022 นี้ ภาคเอกชนไทยได้รับเกียรติในการเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) และเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 4/2022 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 – 16 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงบทบาทในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ “APEC CEO Summit 2022” ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล ภายใต้แนวคิด ‘Embrace Engage Enable’ การประชุมดังกล่าวนับเป็นการรวมตัวสุดยอดซีอีโอ ผู้นำเอเปค ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขประเด็นที่สำคัญ และจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ โดยนอกจากภาคเอกชนแล้ว ผู้ประกอบการและประชาชนคนไทยทุกคน ก็ถือเป็นส่วนสำคัญและมีบทบาทร่วมกันในการเป็นเจ้าภาพงานสุดยิ่งใหญ่ในครั้งนี้

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 มีบทบาทหลักในการทำหน้าที่ส่งมอบข้อเสนอแนะให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อต่อยอดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ภายใต้กลยุทธ์หลัก 5 ประการ อันได้แก่ (1)Regional Economic Integrationการบูรณาการเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (2) Digitalการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า (3) MSME and Inclusivenessการเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการระดับ MSME เพื่อทำให้ธุรกิจในทุกระดับมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (4) Sustainabilityการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสีเขียวและระบบอาหารที่ยั่งยืน และ (5) Finance and Economics การส่งเสริมด้านการเงินเพื่อเร่งการฟื้นตัวและการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยสำหรับการเงินดิจิทัล โดย 5 กลยุทธ์ที่สำคัญดังกล่าวจะสามารถถูกนำไปปฏิบัติและเกิดความเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อเกิดความร่วมมือร่วมใจจากภาคเอกชน อันเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

The POLL – Business of the People

เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จึงนำเสียงหรือความคิดเห็นจากประชาชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการส่งเสียงผ่านการสำรวจของ‘Business of the People Poll’ ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโดย สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในจัดทำการสำรวจผ่านตัวแทนผู้ประกอบการไทยจำนวน 451 ตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นหัวข้อไปที่ ปัจจัย, ความท้าทาย, โอกาส และคำแนะนำ ในการเสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต เพื่อที่จะทราบถึงความเข้าใจข้อเท็จจริง และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจของประเทศไทย

ผลสำรวจได้แสดงความมั่นใจจากภาคธุรกิจไทยในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้า ที่เชื่อว่าสถานะทางธุรกิจน่าจะฟื้นกลับมาดีขึ้น มีโอกาสในการขยายตัวและเติบโตได้ โดยปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนประกอบไปด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัล เข้ามาสนับสนุน การปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค การให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนหรือการนำBCG Model มาปรับใช้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย (Small & Micro Enterprise) ยังมีความเปราะบางในด้านเข้าถึงแหล่งเงินทุน การได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และการช่วยเหลือด้านนโยบายจากภาครัฐเพื่อลดการผูกขาดของรายใหญ่ในตลาด เหล่านี้จะทำให้การประกอบการของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังได้แสดงข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจส่งมอบไปยังภาคนโยบายในแง่มุมที่สำคัญและเร่งด่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือและส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจทุกขนาดเข้าด้วยกัน การเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy รวมทั้งการเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนราคาสินค้า และวัตถุดิบให้เป็นไปตามกลไกตลาด การสนับสนุนด้านงบประมาณ เงินช่วยเหลือในการฟื้นฟูกิจการ และช่วยควบคุมราคาปัจจัยการผลิต การลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และการกำหนดนโยบาย รวมถึงกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

The FILM – Business of the People

นอกจากเสียงจากภาคธุรกิจ การแสดงภาพที่ชัดเจนในเรื่อง แนวทางการปฏิบัติ ยังเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ต้องการนำเสนอและส่งต่อแรงบันดาลใจสู่ผู้ประกอบการและประชาชนทุกคนให้เห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกัน โดยการหยิบยกหนึ่งในเคสตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนตัวจริงในตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เรื่องราวของ ตั้มนิพนธ์ พิลา อดีตดีไซน์เนอร์ที่ผันตัวไปเป็นเกษตรกรยุคใหม่ อันแสดงให้เห็นแล้วว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้จากการพัฒนา ยกระดับ และขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันยุคทันสมัย ทั้งผสานความร่วมมือกันในชุมชน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการก้าวไปด้วยกัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคาร ผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันและเป็นเบื้องหลังของโครงการภาพยนตร์สั้นดังกล่าว ได้ร่วมแสดงมุมมองในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ที่มุ่งผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน กล่าวคือ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ประชาชนทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจจากจุดที่ทุกคนยืนอยู่ เรียกได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจถือเป็นบทบาทหน้าที่และธุระของทุกคน

ในฐานะของผู้ผลักดันด้านการค้าของภาคเอกชน เราเห็นความสำคัญในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ก้าวขึ้นสู่ระดับสากลด้วยการปรับตัวทางธุรกิจดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงและเชื่อมโยงกัน ไปจนถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็น ส่วนสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งสนับสนุน ทั้งนี้ เราเชื่อว่าภาคธุรกิจไทยมีความตื่นตัว แต่อาจยังไม่เห็นถึงแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ดังนั้นเราจึงอยากนำเสนอภาพยนตร์ที่ต้องการหยิบยกเรื่องราวเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของผู้ประกอบการรายย่อยที่ให้ความสำคัญต่อการบูรณาการความร่วมมือสู่การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอแบค 2022 กล่าวว่าสำหรับแนวคิด Business of the People หรือ ธุระ(กิจ)ประชา ถือเป็นหัวใจและเป้าหมายสำคัญ ในการสนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการทุกคน หนึ่งในสิ่งที่เราขอส่งเสริมคือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะสามารถต่อยอดและสร้างคุณค่าต่อภาคธุรกิจได้ สำหรับเคสตัวอย่างในภาพยนตร์ Business of the People ถือเป็นเคสที่ดีในการนำสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็นจุดขายในท้องถิ่น มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีและองค์ความรู้จนเกิดเป็นผลิตผลทางการเกษตรยุคใหม่ ทั้งมีการนำไอเดียด้านความยั่งยืนมาปรับใช้เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศทางอาหาร ซึ่งถือเป็นจุดโดดเด่นของประเทศไทยของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ขณะที่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เราทุกคนต่างมีบทบาทร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด คุณก็คือส่วนสำคัญการผลักดันและเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น โดยในมุมมองของผู้ร่วมขับเคลื่อนจากสถาบันการเงิน เราสนับสนุนให้เกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ หรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า (Supply Chain Finance) โดยการนำดิจิทัลเข้ามาประมวลผลจะช่วยลดปัญหาการกู้ยืมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะรายย่อยและรายย่อมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และหันมาใช้ระบบการเงินสีเขียว (Green Finance) ทั้งในและต่างประเทศ ก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ โดยจะเห็นตัวอย่างได้จากในภาพยนตร์ที่มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและการชำระเงินแบบดิจิทัล ที่ในอนาคตภาคธุรกิจจะมีการพัฒนาไปสู่ระบบการเงินดิจิทัลใหม่ๆ ในวงกว้างมากขึ้น

ในส่วนของ นายนิพนธ์ พิลา หรือ คุณตั้ม ตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยจากชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์  ร่วมแบ่งปันแนวคิดและแนวทางปฏิบัติจริง ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อย ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าความสำเร็จของธุรกิจ เกิดจากความร่วมมือของชุมชนในทุกภาคส่วน โดยคุณตั้มได้เริ่มต้นจากการมองเห็นถึงของดีรอบๆ ตัวในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือผู้คน จนเกิดการนำไปต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับผลผลิตของชุมชน สู่การเติบโตและความสำเร็จของชุมชนแบบองค์รวม ผ่านการประยุกต์นำเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในชุมชนให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน นอกจากนี้คุณตั้มยังไม่หยุดเพียงแค่ในชุมชนบ้านเกิด แต่ยังมีการบูรณาการความร่วมมือและแบ่งปันแนวคิดไปสู่ชุมชนและจังหวัดอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดและสะท้อนถึงโอกาสในการต่อยอดผลผลิตและจุดเด่นของชุมชนทุกแห่งร่วมกันในฐานะของตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยคนหนึ่ง ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ผมหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มาจากเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ ของเรา จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการทุกคนไม่มากก็น้อย หัวใจสำคัญคือการร่วมมือกันในชุมชน ผมทำได้ คุณเองก็ทำได้นายนิพนธ์ พิลา กล่าวสรุป

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here