เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ประธาน ทปอ.) พร้อมด้วย ศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รักษาการเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (รักษาการเลขาธิการทปอ.)ในฐานะผู้รับผิดชอบ กำกับดูแล ระบบสารสนเทศของสำนักเลขาธิการทปอ. และการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Thai university Central Admission System: TCAS) หรือทีแคส ปีการศึกษา 2561 และ รศ.เพ็ญรัตน์ พงษ์วิทยากร รองเลขาธิการทปอ. รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกันแถลงข่าว ความคืบหน้าการรับตรง TCAS รอบที่ 3 ปัญหา และจำนวนผู้สมัครล่าสุด พร้อมการเปิดรับนักศึกษาเข้าในหลักสูตรใหม่จำนวน 16 หลักสูตร จำนวน 9 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ประจำปีการศึกษา 2561: ภายใต้โครงการ “หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อประเทศไทย 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล (ในรับตรงรอบที่ 3) นั้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวชี้แจงถึงสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัญหาระบบล่มพร้อมขอโทษว่า ในการเปิดรับสมัครออนไลน์เพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือระบบ TCAS(ทีแคส) ในรอบรับตรงรอบที่ 3 ที่กำหนดให้ผู้สมัครทุกคนที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยด้วยระบบคอมพิวเตอร์การรับสมัครตั้งแต่เวลาเริ่มต้นของวันที่ 9 ไปถึง 13 พฤษภาคม 2561 โดยในวันเริ่มต้น หรือเวลา 00.01 น.ของวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 มีผู้สมัครได้ทยอยเข้ามาสมัครอย่างเป็นปกติ แต่พอถึงเวลา 09.00 น. ปรากฎว่า มีผู้สมัครเข้าพร้อมกันมากกว่า 50,000 คนต่อวินาที โดยมิได้คาดคิด ดั่งคลื่นยักษ์สึนามิเกินกว่ากำลังประตูระบบจะรับได้ ทำให้เว็บสมัครเกิดปัญหาทันที แม้ระบบจะถูกกู้กลับมารับสมัครได้อีกครั้งในชั่วโมงถัดไป แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการรับสมัครในช่วงแรก ทปอ.จึงได้ประกาศขยายเวลาชดเชยไปอีก 1 วันจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 จากนั้นได้ประกาศขยายเวลาต่อถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 เพื่อบรรเทาความวิตกกังวลของผู้สมัคร

ประธานทปอ. กล่าวต่อว่า ระบบสารสนเทศการรับบุคคลเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ของ ทปอ. ได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญงานสารสนเทศที่ทำเรื่องนี้มายาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่กระบวนการสอบเอ็นทรานซ์แบบเดิม และพัฒนามาจนถึงระบบ TCAS แม้ว่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายทางเทคนิค แต่ในฐานะ ประธานทปอ. ผมต้องขอโทษน้องๆนักเรียนและผู้ปกครองทุกคนที่ทำให้เกิดความไม่สะดวก และความวิตกกังวล ขณะนี้ทปอ.ได้นำผู้เชี่ยวชาญทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำแก้ไขระบบการรับสมัครออนไลน์ และระบบฐานข้อมูลเข้าร่วมสนับสนุนการแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มกำลังระบบทันทีในการเข้าล็อกอินมากขึ้นถึง 3 เท่าตัว คือการเพิ่มเซิร์ฟเวอร์จาก 4 เป็น 12 เครื่อง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า เมื่อผู้สมัครเข้าสู่ระบบแล้วยังใช้เทคนิคการสร้างระบบบ่อพักข้อมูลบนฐานข้อมูลหลักซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยให้การเขียนข้อมูลลงระบบฐานข้อมูลรวดเร็วขึ้น ทปอ.ยังได้เพิ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งระบบฐานข้อมูล ระบบเชื่อมโครงข่าย ระบบการจัดการเว็บไซต์ และด้านสถาปัตยกรรมโปรแกรม คอมพิวเตอร์ ประจำอยู่ศูนย์คอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ระบบ TCASด้วย

เผยตัวเลขรับรอบ 3 รับได้ 100,265 ที่นั่ง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลล่าสุดของการรับตรง TCAS รอบที่ 3 ประเภทรับตรงร่วมกัน และนักศึกษาเลือกสาขาวิชาแบบ Post Select ไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น. มีจำนวนใบสมัครรวมแล้ว 150,382 ใบ และยังเหลือเวลาอีกเกือบ 4 วันที่จะครบกำหนดรับสมัคร

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขการสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส รอบที่ 1 และ 2 มีจำนวนผู้ยืนยันสิทธิแล้วกว่า 125,032 ที่นั่ง และรอบที่ 3 กำหนดจำนวนรับอีก 100,265 ที่นั่ง โดย ทปอ.ยังกำหนดให้มีการรับสมัครอีกจำนวน 2 รอบ คือรอบ รอบที่ 4 การรับสมัคร Admission จำนวน 80,971 ที่นั่ง ภายในเดือนมิถุนายน 2561 และ รอบที่ 5 การรับตรงอิสระภายในเดือนกรกฎาคม 2561

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ทปอ.ยังคงมีปณิธานสร้างโอกาสให้เด็กไทยศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุดเป็นเหตุผลที่ทำไมต้องมีการรับถึง 5 รอบในระบบ TCAS โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งยังลดความเหลื่อมล้ำ ให้น้องๆและผู้ปกครองไม่ต้องไปวิ่งรอกสอบหลายครั้งเหมือนในอดีต มาเป็นการรับพร้อมกันทีเดียว และจะนำบทเรียนที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงและพัฒนา ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยให้เหมาะสมกับบริบทความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคมต่อไป

“ระบบการรับตรงรอบที่ 3 ในระบบทีแคส พร้อมกันนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มีหลายคนเคยตั้งคำถามว่า ผู้ปกครองต้องพาเด็กไปวิ่งรอกสอบหลายที่ วันนี้ระบบรอบที่ 3 เป็นการแก้ปัญหาระบบวิ่งรอกสอบจริงๆ เพื่อทำให้น้องๆนักเรียนม.6 สามารถสอบในคราวเดียวกันได้ถึง 4 สาขา และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาได้ระบุในงานวิจัยว่า จากเดิมผู้ปกครองเคยเสียต้นทุนการศึกษาประมาณ 70,000 บาท ปัจจุบันเสียไม่ถึง 20,000 บาท และทปอ.ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเกิดขึ้นแล้วจริงๆ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาให้นักเรียนที่จบกำลังจบม.6 เทอมสุดท้ายที่เป็นปัญหาเรื้อรังไม่เคยแก้ได้ การสอบรับตรงเกิดขึ้นหลังจากที่น้องๆม.6 ได้อยู่ชั้นเรียนจนจบปีการศึกษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิต และนี่คือความตั้งใจของทปอ.ที่แก้ปัญหา และระบบทีแคสก็เป็นระบบที่นำมาใช้เป็นปีแรก ทปอ.จึงตั้งคณะทำงาน 2 ชุด คือ 1.การพัฒนาปรับปรุงระบบไอทีหรือสารสนเทศ และ 2.คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบทีแคส ประกอบด้วย อธิการบดี อดีตอธิการบดี และผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา น้องๆนักเรียน ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ทำมาด้วยการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลและจะทราบผลภายในเดือนตุลาคม 2561 จากการลงพื้นที่การรับฟังความคิดเห็นทั่วภูมิภาคและทำประชาพิจารณ์ การนำบทเรียนข้อดีและข้อเสีย ไม่ว่าจะเป็นมิติต่างๆทั้ง นักเรียน ผู้ปกครอง สังคม และมหาวิทยาลัย โดยทปอ. ทำทั้งหมดนี้ไม่ได้เพื่อทปอ. แต่เพื่อน้องๆ ผู้ปกครอง และเพื่อประเทศไทยนับจากนี้ไปประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า

ขอขอบคุณข้อมูลจากพันธมิตร : www.education4plus.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here