ชาวสวนยางรุ่นใหม่ หยิบงานวิจัยมาต่อยอด นำน้ำยางพาราสดๆ จากต้นผสมสารประกอบแค่ 2-3 ตัวพ่นผ้าดิบปูพื้นทำบ่อกักน้ำใช้เองสู้แล้ง-หรือบ่อปลาได้สบาย เผยต้นทุนต่ำกว่าบ่อซีเมนต์เกิน 3 เท่า ทนนานเกิน 10 ปี แถมทำบ่อบนดอยสูงเก็บน้ำสู้ไฟป่าได้ด้วย

ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางบนพื้นที่สูง จ.เชียงราย ที่มีแนวคิดสร้างรายได้เสริมในภาวะที่ราคายางพาราผันผวน จึงผุดไอเดีย นำผลงานวิจัยบ่อน้ำเคลือบยางพารา ต่อยอดธุรกิจสร้างโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่ต่อสู้กับปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตร สร้างประโยชน์ เพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ หวังเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ นำแนวทางไปปรับใช้

นฤมล ปาณะที เกษตรกรชาวสวนยางบนพื้นที่สูง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดสร้างรายได้เสริมในภาวะที่ราคายางพาราผันผวน โดยปัจจุบัน นฤมล มีพื้นที่ทำสวนยางพารากว่า 25 ไร่จากช่วงปลายปีที่ผ่านมาเกิดประสบปัญหาด้านราคายาง เนื่องจากราคายางตกต่ำมาก จึงเลือกหาอาชีพเสริมเพื่อชดเชยรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยได้ศึกษานำผลงานวิจัยเรื่องการสร้างบ่อน้ำเคลือบยางพารา ของ สกว. ( สำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่องานวิจัย ) และนำเอาแนวทางผลิตบ่อน้ำเคลือบยางพารามาทดลองผลิต เนื่องจากวัตถุดิบสามารถหาได้ในพื้นที่ และประกอบกับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่สูงจะประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ซึ่งการทำบ่อน้ำเคลือบยางพารา จึงเป็นการตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีเกษตรกรให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก บ่อน้ำเคลือบยางพาราจึงเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ไว้ใช้ในการกักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตร

สำหรับบ่อน้ำเคลือบยางพารา มีขนาดมาตรฐาน 4 x 2 เมตร สามารถทำได้ในรูปแบบยกลอย และแบบฝังดินโดยใน 1 บ่อ ใช้น้ำยางธรรมชาติปริมาณ 50 กิโลกรัม ประกอบกับสารเคมีตามสูตรที่กำหนดไว้ มีวัตถุดิบหลักคือ ผ้าดิบและน้ำยางพารา โดยบ่อน้ำยางพารามีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตรและทำการประมง มีอายุยาวนานถึง 10 ปี และที่สำคัญเมื่อเกิดการชำรุดสามารถทำการซ่อมแซมให้กับมาคงทนเหมือนเดิมได้ ซึ่งแตกต่างจากบ่อน้ำพลาสติกทั่วไป

ปัจจุบัน ตนได้เริ่มผลิตบ่อน้ำมากว่า 2 ปีแล้ว โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ผ่านมาคงเหลือสุทธิหลังจากหักต้นทุน อยู่ประมาณ 3 แสนบาท และแรงงานส่วนมากใช้แรงงานภายในครัวเรือนเป็นหลัก โดยปัจจุบัน มีหน่วยงานการยางแห่งประเทศไทย ( กยท. ) ได้เข้ามาดูแลให้ความรู้ในด้านการแปรรูป จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ และยังช่วยเหลือสนับสนุนเงินทุนจำนวน 80,000 บาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต

นฤมล ยังเสริมว่า บ่อน้ำเคลือบยางพารา มาจากการนำน้ำยางมาผสมกับสารประกอบ 2-3 ตัวเพื่อทำให้น้ำยางแข็งตัวช้า ก่อนนำมาฉีดพ่นกับผืนผ้าดิบที่ไม่ได้เคลือบแป้งทั้ง 2 ด้าน ที่ปูไปตามพื้นผิวของบ่อดินตามขนาดที่ต้องการ โดยพ่นน้ำยางพาราพอเปียกทั่วกัน จากนั้นก็นำผ้าดิบปูไปอีกครั้งเป็นชั้นที่ 2 พ่นน้ำยางพาราอีกรอบ ทิ้งไว้ให้แห้ง ก็จะได้บ่อดินที่ไม่รั่วซึม หรืออาจจะทำบ่อยกสูงจากพื้นดินก็สามารถทำได้ โดยการนำผ้ามาเย็บเป็นบ่อสี่เหลี่ยมตามขนาดที่ต้องการ นำน้ำยางพ่นทั้งสองด้าน ทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นนำไปประกอบกับโครงสร้างเหล็ก หรือไม้ที่หาได้รอบๆ บ้าน ก็จะได้บ่อน้ำอเนกประสงค์ เคลื่อนย้ายได้ สามารถนำไปเป็นบ่อเก็บน้ำบนภูเขาสูง หรือจะนำไปเลี้ยงปลาก็ได้ เนื่องจากมีความสะดวกในการติดตั้งมีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี ต้นทุนต่ำกว่าการทำบ่อซีเมนต์กว่า 3 เท่า และมีคุณภาพดีคงทนกว่าบ่อน้ำที่ใช้พลาสติกสำเร็จ ซึ่งรั่วง่าย และมีขนาดตายตัว

บ่อน้ำยางพาราสร้างขนาดใหญ่เล็กได้ตามต้องการ เหมาะสำหรับการสร้างบ่อกักเก็บน้ำบนที่สูงเนื่องจากมีน้ำหนักเบา และที่สำคัญใช้น้ำยางในสวนของตัวเองมาทำบ่อได้ไม่ยาก

วิธีการดังกล่าวนี้เชื่อว่า ยังจะสามารถนำมาปรับใช้ สร้างแหล่งน้ำใช้กับแปลงพืชในบางพื้นที่น้ำไม่ขัง หรือจะทำที่เก็บน้ำในลำห้วยขนาดเล็ก ก็จะมีน้ำใช้และกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาไฟป่า ถ้าทำอ่างเก็บน้ำยางพาราขนาดเล็กบนภูเขาไว้พร้อมกับฝายพวง ก็จะทำให้มีน้ำไว้ใช้ดับไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง และทำให้ป่าชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี

นฤมล ปาณะที กล่าวในตอนท้ายว่า ตนขอเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรทั่วไปที่ประสบปัญหาด้านราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง และคอยแสวงหาความรู้หรือแนวทางใหม่ๆ มาพัฒนาอาชีพการทำเกษตรให้ยั่งยืนต่อไป

ผลงานวิจัยเชิงเทคนิคที่อ้างอิงได้ :

จากการวิจัยพบว่า “เทคโนโลยีการเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำ ด้วยน้ำยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยผ้าด้ายดิบ” เป็นเทคโนโลยีที่กระบวนการในการทำไม่ซับซ้อน สามารถแยกเป็นขั้นตอนหลักๆได้ 2 ขั้นตอน คือ

1. การเตรียมน้ำยางคอมปาวด์ (น้ำยางผสมสารเคมี) ซึ่งเป็นการนำน้ำยางธรรมชาติ หรือน้ำยางพารา มาทำให้ข้นขึ้นด้วยกระบวนการครีมมิง หรืออาจจะใช้เทคนิคอื่นๆ เช่น ใช้เทคนิคการเซนตริฟิวซ์ ฯลฯ มาใส่สารเคมีที่จำเป็น ได้แก่ สารเพิ่มความเสถียร สารป้องกันการเสื่อม สารตัวเติม สารกระตุ้น สารตัวเร่ง กำมะถัน ฯลฯ แล้วบ่มทิ้งไว้ จนมีระดับของพรีวัลคาไนซ์ โดยวัดจากค่าดัชนีการบวมพองในทูโลอิน (toluene swelling index) อยู่ระหว่าง 90 – 100 % จึงนำไปใช้งานได้

2. การเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำ เราจะใช้ผ้าใบด้ายดิบจำนวน 1 – 2 ชั้น (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงที่ต้องการ) มาวางลง ถ้าต้องการ 2 ชั้น ให้นำผ้าใบมาวางลง จากนั้นทาหรือพ่นทับด้วยน้ำยางคอมเปาด์ แล้ววางชั้นผ้าใบชั้นที่ 2 ลงไป จากนั้นพ่นหรือทาน้ำหนักคอมเปาด์ซ้ำ แล้วปล่อยทิ้งไว้ ให้เกิดการวัลคาไนซ์ (การสุกของยาง) เป็นเวลาประมาณ 3 วัน

ผลการทดสอบสมบัติเชิงกายภาพของยางเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำ พบว่า มีสมบัติด้านความต้านทานต่อแรงดึง ความสามารถในการยืดจนขาด ความต้านทานต่อการฉีกขาดในระดับที่สูงกว่าแผ่นพลาสติกที่ใช้ในการปูบ่อน้ำทั่วไป สมบัติทางกายภาพของยางเคลือบสระน้ำ เมื่อทิ้งไว้ในสภาวะของการใช้งานจริง ประมาณ 12 เดือน พบว่า สมบัติเชิงกายภาพลดลงประมาณ 23 – 36 % อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสมบัติของแผ่นฟิล์ม HDPE ที่ใช้งานในการปูสระน้ำ พบว่า ยังคงมีสมบัติเชิงกายภาพในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่แผ่นยางธรรมชาติเสริมผ้าใบมีความต้านทานต่อการฉีกขาดที่สูงกว่าประมาณ 2 เท่า

ส่วนผลการวิเคราะห์คุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงปลาที่ปูด้วยยางธรรมชาติเสริมผ้าใบ พบว่าตัวอย่างน้ำที่เก็บในบางช่วง มีค่าความขุ่นของน้ำสูงกว่าเกณฑ์เล็กน้อย ส่วนตัวอย่างและค่าวิเคราะห์อื่นๆ มีค่าตามเกณฑ์ที่กำหนด พบว่า เมื่อนำยางเคลือบสระน้ำไปทดลองในพื้นที่ที่มีความเค็ม ในตัวอย่างน้ำที่เก็บไปทดสอบในช่วงตลอดระยะเวลา 5 เดือน พบว่าค่าความเค็มเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าน้ำจากภายนอกไม่สามารถซึมผ่านเข้ามาในบ่อเลี้ยงปลาที่ปูด้วยเทคนิคนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ายางปูบ่อน้ำได้ทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้เป็นอย่างดี

เมื่อเราเปรียบเทียบกับวัสดุอื่นที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน เช่น HDPE หรือ แผ่นยางวัลคาไนซ์ด้วยเทคโนโลยีของยางแห้ง เช่น แผ่นยางสังเคราะห์อีพีดีเอ็ม หรือยางธรรมชาติ ที่ผลิตจากบริษัทเอกชนรายใหญที่มีความพร้อมสูง จะต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และเงินลงทุนสูง เทคโนโลยีการทำวัสดุยางเคลือบสระน้ำที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติเคลือบด้วยผ้าใบ มีความเรียบง่ายของเทคโนโลยีการผลิตมากกว่า เคลื่อนย้ายสะดวก สามารถประยุกต์ใช้ได้กับขนาดของสระน้ำที่หลากหลาย ตลอดจนมีการลงทุนด้านอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ต้นทุนต่ำ และอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า (ประมาณการคือ 10 ปี)

ทั้งนี้ เทคโนโลยีการทำวัสดุยางเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติเคลือบด้วยผ้าใบ ก็มีจุดด้อยกว่าที่สำคัญคือ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และยางธรรมชาติที่ใช้เป็นวัสดุหลักมีความผันผวนของราคาอยู่ตลอด อาจทำให้ต้นทุนการผลิตไม่แน่นอน

ท้ายนี้ เทคโนโลยีชิ้นนี้ ยังสามารถมีแนวทางการพัฒนาการใช้งานยางเคลือบสระในเชิงพาณิชย์ประเภทอื่นๆ อาทิ การเคลือบสระน้ำ หรือบ่อน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ และการเคลือบสระน้ำสำหรับการบำบัดน้ำในอุตสาหกรรม เป็นต้น

ภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนการลงทุนการทำสระน้ำ/บ่อน้ำ เพื่อขยายผลของการใช้เทคโนโลยีการเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำด้วยน้ำยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยผ้าใบ ให้กับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงการตั้งนโยบายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์รายแรกๆ และส่งเสริมการทำประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการใช้ประโยชน์เพื่อสร้างการรับรู้ การปรับทัศนคติ การสร้างความเชื่อมั่น ให้กับภาคเอกชนหรือประชาชนทั่วไป ในการใช้ผลิตภัณฑ์ยางเคลือบสระน้ำด้วยน้ำยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยผ้าใบด้ายดิบต่อไป

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here