การนำผลงานวิจัย “ยางล้อรถประหยัดพลังงาน” ชี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีออนาคตไกล ช่วยผู้ประกอบการไทยตีตลาดโลกมากขึ้น นักวิจัยเดินหน้าพัฒนายางไร้มลพิษทางเสียงและยางไร้ลม ทำการตลาดควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากล

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมด้วย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า เจ้าหน้าที่ สกว. และ ผศ. ดร.กฤษฎา สุชีวะ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยผู้รับทุนโครงการ “การวิจัยและพัฒนายางล้อรถประหยัดพลังงาน” เดินทางเข้าเยี่ยมชมการผลิตยางล้อตันสำหรับรถฟอร์กลิฟต์ ณ บริษัท วี.เอส. อุตสาหกรรมยาง จำกัด จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจนสามารถผลิตขายเชิงพาณิชย์

หัวหน้าโครงการวิจัยของ สกว. เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยางในประเทศไทยร้อยละ 60-70 นำยางธรรมชาติมาผลิตเป็นยางล้อ โดยยางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์เป็นยางล้อรถประเภทที่ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตสูง ประมาณ 30 กิโลกรัม/เส้น ส่วนยางประเภทที่ใช้ลมใช้ยางธรรมชาติเพียง 8 กิโลกรัม/เส้น ในแต่ละปีประเทศไทยใช้ยางธรรมชาติในการผลิตยางล้อรถตันประมาณปีละ 12,960 ตัน เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศประมาณ 216,000 เส้นต่อปี ที่เหลือส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเป็นหลัก รวมทั้งแถบยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น มูลค่าตลาดรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์ของประเทศไทยยังคงรั้งอันดับ 4 ของตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็นระดับขนาดกลางและขนาดเล็ก ประกอบกับตลาดโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะยางล้อประหยัดพลังงาน เกาะถนนได้ดีขณะที่ถนนเปียกเพื่อความปลอดภัย และลดมลพิษทางเสียง หลายประเทศออกกฎหมายบังคับให้การผลิตยางล้อเพื่อการส่งออกต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด อุตสาหกรรมยางล้อของไทยจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถมีบทบาทในการผลิตและส่งออกยางล้อรถได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ยางล้อตันประเทศไทยยังคงต้องแข่งขันในด้านเทคโนโลยีและคุณภาพอีกมากโดยเฉพาะกับประเทศศรีลังกาซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางล้อตันอันดับต้น ๆ ของโลก และเทคโนโลยีหนึ่งที่จะมีความสำคัญมากในอนาคต คือ เทคโนโลยีการผลิตยางล้อรถประหยัดพลังงาน คณะวิจัยจึงได้ผลิตต้นแบบยางล้อตันประหยัดพลังงานเชิงพาณิชย์ ที่มีความทนทานต่อการใช้งานเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 สำหรับยางล้อหน้า และร้อยละ 55 สำหรับยางล้อหลัง เมื่อเทียบกับยางล้อตันเดิมของบริษัท ขณะที่อัตราการสิ้นเปลืองพลังงานลดลงร้อยละ 23 เมื่อนำไปทดลองใช้งานจริงพบว่าสามารถช่วย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งานรถฟอร์กลิฟต์ได้ 60,000 บาท/คัน/ปี

บริษัท วี.เอส.อุตสาหกรรมยาง จำกัด จึงได้นำต้นแบบยางล้อตันประหยัดพลังงานที่พัฒนาขึ้นไปพัฒนาผลิตยางล้อรถฟอร์กลิฟต์ขายในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2556 ผลิตขายไปแล้วมากกว่า 120,000 เส้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท มีการส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ขณะที่นักวิจัยได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. จากความสำเร็จในครั้งนี้

ผลกระทบที่สำคัญจากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมยางล้อรถไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ในด้านการออกแบบยางล้อ และพัฒนายางคอมพาวด์เพื่อการผลิตยางล้อรถประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ผู้ประกอบการผลิตยางล้อรถไทยยังสามารถทำตลาดได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นความต้องการของตลาด รวมถึงสามารถคุณภาพของยางล้อได้ดีขึ้นกว่าเดิมจากที่แข่งขันด้วยราคาเพียงอย่างเดียว รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการผลิตยางล้อรถไทยเห็นประโยชน์จากการทำวิจัยและเริ่มลงทุนในการวิจัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไทยระบุว่า ในภาพรวมผู้ประกอบการยางล้อไทยยังขาดทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่สามารถหาตลาดในต่างประเทศได้มากนัก ซึ่งงานด้านการตลาดกับงานวิจัยและพัฒนาจะต้องไปด้วยกัน เพราะหากขยายตลาดได้ก็จะทำให้หาโจทย์วิจัยเพิ่มขึ้นได้ งานวิจัยยางล้อจึงถือเป็นโมเดลของงานวิจัยที่ช่วยจุดประกายให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อประเทศและผู้ประกอบการไทย โดยโจทย์ต่อไปที่คณะวิจัยจะดำเนินการคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เอกชนและบริษัทผู้ผลิตจยางล้อ การพัฒนายางล้อที่มีเสียงดังลดลง รวมถึงยางไร้ลมเพื่อลดการดูแลเมื่อถูกของมีคม เพื่อใช้กับรถสำหรับการก่อสร้างหรือการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย และรถทหารโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศเป็นอย่างมาก

ด้านนายชวินทร์ ศรีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.เอส.อุตสาหกรรมยาง จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการวิจัยกับ สวก. ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 121 ล้านบาท ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มโครงการ เป็น 235 ล้านบาทในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการส่งออกได้มากขึ้นและมีลูกค้าในต่างประเทศเพิ่มจาก 10 ราย เป็น 24 ราย ใน 23 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในตะวันออกกลางและอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

“ผลจากการที่คุณภาพยางล้อตันได้รับการยกระดับขึ้น ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับให้เป็นซัพพลายเออร์ยางล้อตันรถฟอร์กลิฟต์ให้แก่บริษัทโตโยต้า ทูโชโฟร์คลิฟท์ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทขายรถฟอร์กลิฟต์อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังได้รับมาตรฐาน มอก. 2668-2558 และขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมในปี 2560”

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมกับผู้ประกอบการและเยี่ยมชมโรงงานผลิตยางล้อ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวชื่นชมนักวิจัยและผู้ประกอบการ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการขยายตัวในอนาคตของบริษัทที่จะต้องคิดต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความเสี่ยงจากประเทศจีน ดังนั้นจึงต้องช่วยกันคิดและประเมินสถานการณ์ความต้องการเพื่อวางแผนในการทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม ขณะที่สำนักประสานงานชุดโครงการยางพาราของ สกว.เองก็ควรมีกรณีตัวอย่างความสำเร็จการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เพื่อก้าวข้ามกับประเทศรายได้ปานกลาง ยกระดับผลผลิตและรายได้ให้กับประเทศ

“อุตสาหกรรมยางล้อเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตไกล ตลาดยังเปิดกว้างอีกมาก ดังนั้นเราต้องคิดการใหญ่ให้เป็นเรื่องเป็นราวตลอดทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่อุตสาหกรรมยางล้อจนถึงเกษตรกรที่ปลูกยางพารา และสัดส่วนความต้องการของประเทศ เพื่อให้ชาวสวนยางมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ติดตามข่าวสารข้อมูลยางและพลาสติกเพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here