สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2561ขยายตัวร้อยละ 4.64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 โดย 7 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 4.0 ( 7 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.9 )

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index – MPI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.64 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 เป็นผลจากการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2561 มีมูลค่า 20,424 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 โดยการส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวดีโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อินเดียและอาเซียน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 62 เดือน ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 4.0 ( 7 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.9) มีอัตราการใช้กำลังการผลิต เดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 67.23 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนกรกฎาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ยาง

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนกรกฎาคม ได้แก่

รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวร้อยละ 13.17 จากรถบรรทุกปิคอัพ เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1800 ซีซี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี​การผลิตรถยนต์เดือนกรกฎาคมปี 2561 มีจำนวน 183,119 คัน แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 58และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 2

น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 82.26 จากปีนี้มีปริมาณผลผลิตอ้อยจำนวนมาก ทำให้แปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวได้มากขึ้น

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 9.18 จาก PCBA และ otherintegrated circuits ( IC ) ตามความต้องการของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 14.24 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 น้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเตาจากการเร่งผลิตตามความต้องการใช้ในภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากน้ำมันเบนซิน 91เป็นหลัก มีโรงกลั่นบางรายจะปิดซ่อมบำรุงในเดือนสิงหาคม จึงเร่งผลิตในเดือนกรกฎาคม

ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 9.82 จากยางแท่งเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีน้ำยางออกสู่ตลาดมาก ราคายางจึงปรับตัวลดลง ทำให้ลูกค้าจีนมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.76 ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.46 แต่ในส่วนของการผลิตยางรถยนต์ที่หดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำลังปรับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตามมาตรฐาน มอก. ใหม่ ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปีนี้

อุตสาหกรรมไทย ทะยานไกลด้วยโมเดล “SIAM”

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนประยุกต์ใช้โมเดล “สยาม”มาจาก “SIAM” (สรรค์สร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve & Innovation, การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ Innovative Big data, การยกระดับผลิตภาพด้วย Automations and Robotic และพัฒนากำลังคน Manpower Management) เพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 4.0 ยกระดับการเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 โดยผู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาคือผู้ที่มีที่ยืนอยู่บนโลกที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง

ทาง สศอ.ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พบบริษัทไทยมีแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาสูงขึ้น ซึ่งเมื่อถอดบทเรียนจากผู้ประกอบการ ที่ประสบความสำเร็จ จะพบว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้โมเดล “SIAM” มีการลงทุนกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ใช้ประโยชน์จาก Big data จนไปถึงการยกระดับผลิตภาพการผลิตด้วยหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ การบริหารคน รวมไปถึงผันตนเองให้เป็นศูนย์การเรียนรู้

ยกตัวอย่าง บริษัทสัญชาติไทยที่คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก เช่น บจก. ซีพี ออล์ มีโมเดลธุรกิจสนับสนุน SMEs ทั่วไปในการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าใหม่ รวมทั้งเป็นกระบวนการทดสอบผลการพัฒนาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของผู้ประกอบการว่าสิ่งใหม่ที่ผลิตสามารถเป็นที่ยอมรับและแพร่กระจายไปสู่ลูกค้าได้ในวงกว้าง

บจก. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ทำด้านเพาเวอร์ซัพพลาย พลังงานแสงอาทิตย์ และยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญทางด้านเพาเวอร์ซัพพลายและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติด้านอุตสาหกรรม พัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นการพัฒนา Supply chain ให้เติบโตไปด้วยกัน

บจก. ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ ผู้ผลิตโคมไฟฟ้าซึ่งพัฒนาจากผู้ผลิต เป็นผู้ให้บริการ (Service Solution) นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการการออกแบบด้วยเครื่องมือ 3D Printing เพื่อลดเวลาและขั้นตอนในการออกแบบ โดยใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น Spot Welding Robot และมีศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าแสงสว่าง (Lighting Innovation Center; LIC) เพื่อสร้างนวัตกรรมต่อยอดธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์แสงสว่างของบริษัท

​ดร. ณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่เป็นรายใหญ่ ๆ เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จโดยใช้ “SIAM” สำหรับกลุ่ม SMEs ก็มีเช่นกัน โดยยกตัวอย่าง SMEs ที่ใช้เอกลักษณ์ขนมไทยแบบดั้งเดิม แต่ก็สามารถส่งต่อองค์ความรู้ขนมไทยจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ปั้น คำ หอม ได้ขยายแฟรนไชส์ไปสู่ความเป็นแบรนด์พรีเมี่ยม

ทั้งนี้ SMEs อาจจะต้องพึ่งอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ขอยกตัวอย่าง IBM ที่มีผลิตภัณฑ์ ในการวิเคราะห์และนำเสนอสินค้าที่ลูกค้าสนใจจากประวัติการซื้อ มีโซลูชันที่สามารถตรวจจับอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า รวมทั้งเก็บข้อมูลลักษณะทางกายภาพ เพื่อประเมินประสบการณ์การชมสินค้าของลูกค้าแต่ละคนในแบบเรียลไทม์ ร้านค้าสามารถนำไปปรับปรุงบริการและแผนการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายจะเป็นการปฏิวัติที่ใช้ข้อมูลจากลูกค้าในยุคใหม่ ซึ่งภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ดร.ณัฐพลฯ ยังกล่าวว่า ในโอกาสที่ สศอ. ได้จัดงาน OIE Forum ครบรอบทศวรรษในปีนี้ รวมทั้งในฐานะองค์กรกำหนดนโยบายการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย จึงขอเชิญผู้ประกอบการและประชาชนทุกท่านที่สนใจเข้ารับฟังรายละเอียดของ “SIAM” จากผู้เข้าร่วมเสวนาโดยบริษัทชั้นนำข้างต้น และอีกหลายบริษัทได้ในงานสัมมนา OIE Forum สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่ www.oie.go.th โดยมีกิจกรรมพิเศษเฉพาะในงานครบรอบสิบปี สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรสามารถรับคำปรึกษาด้านเทคนิคจากศูนย์ Center of Robotic Excellence (CORE) โดยยังมียังมีโปรแกรมสนับสนุนสำหรับสตาร์อัพจำนวน 35 รายด้วย พร้อมทั้งรับคำปรึกษาด้านการเงินจาก SME Bank ซึ่งมีโปรแกรมสินเชื่อที่หลากหลายภายในงานดังกล่าว

ติดตามข่าวสารข้อมูลยางและพลาสติก เพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here