สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 เผยผลการประเมินผลโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อย ในโครงการไทยนิยมยั่งยืน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เผย ผลการดำเนินงาน ณ สิงหาคม มีเกษตรกรที่ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางแล้ว 436 ราย พื้นที่ 1,796 ไร่ และได้เข้ารับการอบรมตามแผนพัฒนาอาชีพตามศักยภาพ เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการทำสวนยาง คาด กันยายนนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลการติดตามโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน กิจกรรมส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกยาง ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) ได้ร่วมติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า มีเกษตรกรได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 573 ราย ซึ่งจะสามารถลดพื้นที่ปลูกยางได้ 3,105 ไร่ และสามารถลดปริมาณผลผลิตยางเข้าสู่ระบบได้ถึง 153 ตัน/ปี
สำหรับผลการดำเนินงาน ณ เดือนสิงหาคม 2561 ขณะนี้ มีเกษตรกรที่ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางแล้ว 436 ราย พื้นที่ 1,796 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 58 และคาดว่าเกษตรกรที่เหลือจะดำเนินการเสร็จ ภายในเดือนกันยายนนี้ พร้อมกันนี้เกษตรกรได้เข้ารับการอบรมตามแผนพัฒนาอาชีพตามศักยภาพแล้ว 377 ราย คิดเป็นเป็นร้อยละ 66 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์การพัฒนาอาชีพต่อไป
นอกจากนี้ เกษตรกรได้ร่วมวิเคราะห์วางแผนการผลิตตามกิจกรรมศักยภาพของตนเอง โดยส่วนใหญ่มีการวางแผนปลูกพืช ได้แก่ ทุเรียน มะพร้าว กล้วย หมาก และผัก ถึงร้อยละ 95 ส่วนอีกร้อยละ 5 วางแผนการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเกษตรกรเริ่มทำตามแผนการผลิตแล้ว ร้อยละ 74 และอยู่ระหว่างการปรับสภาพพื้นที่ ร้อยละ 26
ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกษตรกร รับทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการผ่านทางเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาผ่านผู้นำชุมชน ร้อยละ 30 และผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ และประกาศของทางราชการเท่ากัน ร้อยละ 10 โดยเหตุผลที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่ต้องการปรับเปลี่ยนกิจกรรมเนื่องจากเห็นว่าราคายางตกต่ำ ต้นยางไม่สมบูรณ์ มีอายุมาก และเกษตรกรขาดแคลนแรงงานกรีดยาง เกษตรกรบางส่วนมีสวนยางหลายแปลงดูแลไม่ทั่วถึง และสวนยางอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากช่วยเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพการเกษตรที่หลากหลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรบางส่วนมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ แต่เนื่องจากบางรายไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน หรือมีเนื้อที่ไม่ถึง 2 ไร่ จึงทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับทาง กยท. ได้ โดยเห็นว่าระยะเวลาในการสมัครเข้าร่วมโครงการค่อนข้างน้อย ทำให้เกษตรกรไม่มีเวลามากพอในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนกิจกรรม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เนื้อที่ถือครองทางการเกษตร เนื้อที่ปลูกยาง ราคาไม้ยางพาราที่ได้รับหากปรับเปลี่ยนกิจกรรม และทักษะความรู้ในการปลูกพืชชนิดใหม่ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรหลายราย สนใจจะเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม หลังจากที่เห็นว่าเพื่อนบ้านที่เข้าร่วมโครงการได้รับความช่วยเหลือและได้ผลจริง รวมทั้งเห็นด้วยที่ภาครัฐมีการบูรณาการร่วมกัน มีการติดตามผลต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความเชื่อมั่น ซึ่งหลังจากนี้ สศท.9 จะยังคงติดตามการดำเนินงานเป็นระยะเมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ และรายงานให้ทราบต่อไป
ติดตามข่าวสารข้อมูลยางและพลาสติก เพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com