หลังจากที่ นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพฯ (สร.ขสมก.) พร้อมสมาชิกกว่า 100 ชีวิตยื่นหนังสือเลขที่ สร.ขสมก./513/2561ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ถึงนายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการ ผอ.ขสมก. เรื่องให้องค์การจ่ายค่าตอบแทนกรณีพนักงานเก็บค่าโดยสาร ปฏิบัติหน้าที่โดย ฉีกตั๋วคูปองให้ผู้โดยสารที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่องค์การยังมิได้จ่ายค่าตอบแทนหน้าตั๋วใบละ 10 สตางค์ของ พขร.และ พกส. 5 สตางค์ ซึ่งองค์การจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง แต่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงาน จากยอดฉีกคูปองแทนยอดการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อุปกรณ์อีทิคเก็ตไม่สามารถใช้งานได้ ยาวข้ามปีกว่าจำนวนเงินรายได้ของ ขสมก. มากกว่า 70 ล้านบาท

จากประเด็นดังกล่าวผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อบ่ายวันที่ (23 ต.ค.) ว่า นายธนธัช วิจิตลิมาภรณ์ ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีและเฝ้าติดตามความไม่ชอบมาพากลมาตลอดได้เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของสหภาพฯขสมก.ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 ขสมก.แถลงข่าวว่า ไม่สามารถติดตั้งระบบ E-Ticket สำหรับอ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ครบทั้ง 800 คันเกิดปัญหาในการใช้บริการของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในครั้งนั้น นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพฯ ขสมก.ออกมาระบุว่า บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาของ ขสมก. ไม่สามารถติดตั้งระบบ E-Ticket ได้ตามสัญญาซึ่งบริษัทฯ จะต้องส่งมอบงานงวดที่ 2 ในวันที่ 12 ธ.ค. 2560 จำนวน 800 คัน และเนื่องจากนโยบายรัฐบาลได้ยกเลิกโครงการรถเมล์ฟรี ซึ่งมีรถจำนวน 800 คัน ในวันที่ 1 พ.ย. 2560 ขสมก.จึงได้ทำข้อตกลงกับบริษัท ช ทวี ให้ทำการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรบนรถโดยสารให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ต.ค. 2560 หากไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ บริษัทฯ จะนำอุปกรณ์มือถือ Mobile Phone มาให้ ขสมก.ใช้แทนเป็นการชั่วคราว และบริษัทฯ ตกลงรับผิดชอบชดใช้ค่าโดยสารกรณีผู้โดยสารที่นำบัตรฯ มาใช้กับอุปกรณ์มือถือตามจำนวนจริง หากบริษัทฯ ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์มือถือ Mobile Phone มาใช้แทนชั่วคราวได้ ขสมก.และบริษัทฯ ตกลงให้พนักงานเก็บค่าโดยสารฉีกคูปองให้ผู้โดยสารที่ใช้บัตรคนจนเป็นหลักฐานการใช้บริการ

การใช้อุปกรณ์มือถือ Mobile Phone หรือการให้พนักงานเก็บค่าโดยสารฉีกคูปองให้ผู้โดยสารที่ถือบัตรคนจน หากระบบฯ ใช้งานไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาในการตรวจสอบจำนวนผู้โดยสาร และการคำนวณเพื่อคิดค่าตอบแทนให้แก่พนักงานประจำรถ และรายได้ค่าโดยสารขององค์การ เนื่องจากข้อมูลจำนวนผู้โดยสารไม่สามารถเข้าสู่ระบบหลังบ้านของธนาคารกรุงไทยและกรมบัญชีกลางได้ ซึ่ง ขสมก.ชี้แจงว่ามีการฉีกบัตรโดยสารเป็นหลักฐาน จะมีการตรวจสอบจำนวนผู้โดยสารที่ใช้อุปกรณ์มือถือ หรือบัตรรถใช้เป็นข้อมูลจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงาน เหมือนการจำหน่ายตั๋วม้วนปกติ อย่างไรก็ตาม ขสมก.ได้ส่งร่างสัญญาพร้อม TOR ให้อัยการตรวจสอบ ซึ่งความเห็นของอัยการเป็นที่สิ้นสุด ขสมก.จะดำเนินการตามสัญญาอย่างเคร่งครัด หากบริษัท ช.ทวี ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขสมก.จะดำเนินการปรับบริษัทฯ ตามเงื่อนไขสัญญาต่อไป
นายธนธัช กล่าวต่อไปว่า ขสมก.ไม่สนใจใยดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับองค์กรฯ ขสมก.บ่ายเบี่ยงเตะถ่วงหาเหตุเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายนี้มาอย่างยาวนานข้ามปี กระทั่งหมดอายุสัญญาโดยไม่สนใจระเบียบปฏิบัติเห็นได้ชัดในหลายประเด็น ดังนี้

ข้อ1. จริงๆจำนวนอุปกรณ์ อีทิคเก็ค 800 เครื่องที่เอกชนต้องส่งมอบให้ ขสมก. ต้องส่งมอบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ไม่ใช่ส่งมอบ 800 เครื่องในวันที่ 15 ตุลาคมปีนี้ แต่เรื่องนี้ ขสมก.ไม่เคยสนใจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับองค์กรและกับประชาชนเลย รวมทั้งระยะเวลาสัญญาที่เลยกำหนดเวลาส่งมอบ 2600 ชุดมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2561 ตรงนี้ถือว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่?

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่อุปกรณ์ อีทิคเก็ตไม่เคยใช้ได้แม้แต่เครื่องเดียวเอกชนเสนอให้ใช้โมบายและการฉีกคูปองเพื่อนับยอดค่าโดยสารในแต่ละวัน ขสมก.ไม่เคยพูดถึงข้อตกลงที่ทำไว้กับเอกชน โดยเฉพาะเรื่องที่เอกชนต้องรับผิดชอบค่าโดยสารแทนการที่เครื่องอีทิคเก็ตไม่สามารถหักยอดเงินค่าโดยสารจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ ซึ่งเงินรายได้ดังกล่าวของ ขสมก.รวมถึงค่าตอบแทนที่ ขสมก.ต้องจ่ายให้แก่ พขร. 10 สตางค์ และ พกส. 5 สตางค์ เหมือนการจำหน่ายตั๋วม้วนปกติ ถ้าหากคำนวนตามตารางสรุปรายงานการใช้บริการบัตรสวัสดิการแบบประจำวันจากทุกเขตการเดินรถตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดผู้ใช้บริการประมาณวันละ 25,000 -30,000 คนต่อวัน รายได้ของ ขสมก.จากผู้ใช้บัตรคนจนจะอยู่ที่วันละ 195,000 บาท หรือเดือนละ 5,850,000 บาท เวลา 1 ปีที่ผ่านมา ขสมก.ต้องมีรายได้ 70,200,000 บาท ยอดเงินรายได้ของ ขสมก.จำนวนนี้ต้องฝากพลเอกประยุทธ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ถามฝ่ายการเงิน ขสมก.ว่า “ได้ตั้งไว้ในงบการเงินตั้งเป็นเจ้าหนี้ ช ทวี แล้วหรือยัง?” ถ้ายังนั่นหมายความว่าอย่างไร? เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือเข้าข่ายทุจริตเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่?

ข้อ 2. ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายแทนหน้าตั๋วใบละ 10 สตางค์ของ พขร.และ พกส. 5 สตางค์ ในส่วนนี้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย หากเอกชนไม่ปฏิบัติตามสัญญาและ TOR ที่ ขสมก.ได้ ให้อัยการตรวจสอบ ซึ่งข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า ความเห็นของอัยการเป็นที่สิ้นสุดและ ขสมก.จะต้องดำเนินการตามสัญญาอย่างเคร่งครัด หากบริษัท ช.ทวี ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขสมก.จะดำเนินการปรับบริษัทฯ ตามเงื่อนไขสัญญาต่อไป ตรงนี้ ขสมก.กับเอกชนได้ปฏิบัติคามสัญญาและ TOR อย่างเคร่งครัดหรือไม่?ถ้าไม่ ขสมก.เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่?

ข้อ 3. ขสมก.เคยทักท้วงทวงถามเงินรายได้กว่า 70 กว่าล้านบาทขององค์กรกับเอกชนแล้วหรือไม่? หรือปล่อยให้เรื่องเงียบแล้วผ่านเลย ตรงนี้ถือว่า ร่วมกันทุจริตหรือไม่?ที่สำคัญ มีเสียงร่ำลือว่าเอกชนยินดีจ่ายแต่มีเงื่อนไข ขสมก.ต้องหาช่องทางตรวจรับอุปกรณ์อีทิคเก็ตและเบิกเงินค่าสินค้าให้ได้ก่อน จึงน่าจะเป็นสาเหตุให้ผู้บริหาร ขสมก.ดิ้นรนเพื่อหาช่องทางแก้ไขสัญญาเพื่อตรวจรับอุปกรณือีทิคเก็ตให้ได้ ตรงนี้ถือว่าเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชนและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือร่วมกันทุจริตหรือไม่?

ข้อ 4.การที่ ขสมก.อ้างนโยบาย สังคมไร้เงินสด ที่พลเอกประยุทธ์ พูดบ่อยๆซึ่งต่อมา นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ได้ยกมาอ้างว่า ระบบกล่องหยอดเหรียญหรือ Cash Box ที่ ขสมก.ได้ทำสัญญาเช่าคู่กับ อีทิคเก็ต เป็นอุปกรณ์ที่ล้าสมัยไม่เหมาะกับสังคมไร้เงินสดแล้ว จากนั้นเป็นต้นมาผู้บริหาร ขสมก.ทุกคน พูดจากภาษาเดียวกันหมดทุกคนต่างพร้อมใจอ้างเป็นเหตุเพื่อแก้ไขสัญญาโดยต้องการตัดอุปกรณ์ Cash Box ออกจากสัญญาให้ได้ ทั้งที่ผิดกฏหมาย ผิดระเบียบและผิด พรบ.จัดซื้อแถมยังไม่เคยมีหน่วยงานใดกล้าทำเรื่องเช่นนี้มาก่อน ถ้า ขสมก.ทำเรื่องนี้สำเร็จต่อไปทุกหน่วยงราชการคงทำตามกันเป็นแถว แล้วก็คงต้องเดินตามเข้าคุกกันเป็นแถวเช่นกัน

ข้อ 5.การที่ ขสมก.อ้างคำว่า “สังคมไร้เงินสด”ของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายไพรินทร์ ชูโชติรมช.คมนาคม ที่ว่า “อุปกรณ์ Cash Box ไม่เหมาะกับบ้านเราที่กำลังเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด “ แท้ที่จริงแล้วเป็นการหาเหตุเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายนี้อย่างน่าเกลียดและถือดูถูกสติปัญญาประชาชนคิดว่ารู้ไม่เท่าทัน เหตุผลที่แท้จริงก็คือเอกชนรายนี้ไม่มีขีดความสามารถจัดหาอุปกรณ์หยอดเหรียญหรือ Cash Box ผิดสเปคไม่สามารถนับเหรียญได้ 5 เหรียญภายใน 1 วินาทีตามที่ระบุไว้ใน TOR เมื่ออุปกรณ์ผิดสเปคอย่างชัดเจนไม่สามารถส่งมอบได้แม้แต่เครื่องเดียว การหาเหตุผลปัญญาอ่อนเช่นนี้เพื่อนำมาอ้างเป็นเหตุผลแก้ไขสัญญาเพื่อช่วยเหลือไม่ให้เอกชนถูกยกเลิกสัญญาและถูกแบล็คลิสต์เช่นนี้ถือว่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่?

และจากกรณีที่ นางพนิดา ทองสุข ประธานกรรมการตรวจรับอุปกรณ์อีทิคเก็ต ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ในวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคมนี้ จะนำเรื่องแก้ไขสัญญาเครื่องเก็บค่าโดยสาร Cash box กับบริษัท ช ทวีฯ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ขสมก. พิจารณา หากบอร์ดมีมติก็จะทำการแก้ไขสัญญา เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตรวจรับอีทิคเก็ตได้ เพราะปัจจุบันแม้จะมีการเปิดใช้งานอีทิคเก็ตอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตวจรับอีทิคเก็ตได้ เนื่องจากสัญญาอีทิคเก็ตและกล่องเก็บค่าโดยสารยังอยู่ในสัญญาเดียวกัน นายธนธัช กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่า นางพนิดา มีความต้องการแก้ไขสัญญาให้ได้ ตรงนี้ชัดเจนแล้วว่า ขสมก.มีความพยายามที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายขององค์กรและประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแม้แต่น้อย ดังนั้นในวันที่ 25 ตุลาคม ตนจะยืนหนังสือเพื่อเตือนบอร์ดทุกท่านแบบรายบุคคล หากมีมติให้แก้ไขสัญญาฉบับนี้ได้ ตนจะดำเนินคดีอาญาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งองค์กรและรายบุคคลอย่างแน่นอน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here