สกว. จับมือ สนช. และ สวพ.ทบ. ผลักดันงานวิจัยเพื่ออนาคตยางพาราไทยภายใต้การบริหารจัดการทุนวิจัยอย่างมืออาชีพครบทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมเปิดตัวหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะ และที่นอนยางพาราสำหรับกำลังพล
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดตัวโครงการวิจัย สกว.”การวิจัยเพื่ออนาคตยางพาราไทย” และเปิดวิสัยทัศน์เรื่อง “สกว. กับการบริหารงานวิจัยเพื่ออนาคตยางพาราไทย” โดยกล่าวว่า สกว.ได้สนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าด้านยางพารามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มการใช้ยางพารา ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวโครงการวิจัยในครั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ และมีผลกระทบในเชิงบวกต่อประเทศ
ทั้งนี้ สกว.ได้จัดสรรทุนวิจัยประมาณ 350 ล้านบาท ให้แผนงาน/โครงการวิจัยด้านยางพารารวม 237 โครงการ มีการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ครบทั้ง 5 ด้าน ทั้งด้านพาณิชย์ ด้านชุมชนพื้นที่ ด้านวิชาการ ด้านสาธารณะ และด้านนโยบาย
“สกว.ให้ความสำคัญในการพัฒนางานวิจัยยางพารา เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ เกษตรกรและสถาบันเกษตร ผู้ประกอบการยางพาราและไม้ยางพารา สามารถสร้างรายได้และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การบริหารจัดการทุนวิจัยอย่างมืออาชีพครบทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยพัฒนาทั้งเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพทางการตลาด การใช้สารประกอบที่ไม่ใช่ยางเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม งานวิจัยด้านนโยบายและการมาตรฐาน รวมถึงดำเนินการผลักดันงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ของ สกว. ไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์”
ด้าน พล.ต.ชูเกียรติ ช่วยเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) และ พ.อ.รณภพ จันทร์นิยม รองผู้อำนวยการ สวพ.ทบ. ได้นำเสนอผลงานวิจัยสำคัญที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. ได้แก่ โครงการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถังผ่านมาตรฐานสากล โดย รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ซึ่ง ผศ. ดร.สุนทร สิทธิสกุลเจริญ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระบุว่า หน้ากากนี้สามารถนำไปใช้ในภารกิจทางทหาร เช่น กำลังพลประจำรถถังรุ่น M25 A1 ในการปฏิบัติการของหน่วยรถหุ้มเกราะ และกรณีเกิดอุบัติภัยต่าง ๆ เช่น การรั่วไหลของสารเคมี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อให้ผ่านมาตรฐานสากลในมาตรฐานในการควบคุมของ The North Atlantic Treaty Organization (NATO) และให้มีต้นทุนต่ำกว่าการจัดหาจากต่างประเทศร้อยละ 40
นอกจากนี้ยังมีต้นแบบที่นอนยางพาราสำหรับทหารกองประจำการกองทัพบก โดย พ.อ.หญิง ดร.เปรมวิภา ทองชำนิ สังกัดกรมพลาธิการทหารบก ได้พัฒนาต้นแบบที่นอนซึ่งมีขนาดตามโรงนอนทหารกองประจำการ และนำไปใช้ทดลองใช้งานจริงกับนักเรียนนายสิบโรงเรียนทหารพลาธิการ กรมพลาธิการทหารบกจำนวน 30 นาย มีความพึงพอใจมากกว่าที่นอนใยมะพร้าวแบบเดิม ทำให้กำลังพลได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการนอนหลับพักผ่อน ซึ่งเป็นผลต่อสุขภาพโดยรวม
ขณะที่ นายพรศักดิ์ เจียรณัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลผลิตทางการเกษตร สนช. กล่าวถึงข้อเสนอปัญหาและทางออกของยางพาราไทยว่า ขณะนี้เราเห็นภาพดิ่งของยางพาราจากที่เกษตรกรชาวสวนยางนับล้านครัวเรือน หวังว่ายางพาราเป็นพืชแห่งความหวัง แต่สุดท้ายระบบของการบริหารจัดการที่ไม่ดีทำให้ยางพารามีราคาตกต่ำ ทั้งข้อจำกัดทางกฎหมาย การบริหารจัดการที่ล้มเหลว ไม่สามารถให้อำนาจควบคุมยางพาราแก่รัฐวิสาหกิจได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังขาดองค์กรที่จะบริหารงานอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังมีการแทรกแซงจากต่างประเทศ ส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการดำเนินการอื่น ๆ ขณะที่ผู้ประกอบการก็ถูกมองว่าเอาเปรียบเกษตรกร แต่เราต้องไม่ลืมว่าเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศ ส่วนเกษตรกรรายย่อยจำนนมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง ซึ่งตนจะนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาภาพรวมทั้งระบบ
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นงานวิจัยเติมเต็มในเรื่องที่สำคัญและเป็นความต้องการของประเทศอย่างมาก นั่นคือ การจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานนานาชาติ โดย ผศ. ดร.ขวัญชัย ดวงสสถาพร และการบริหารจัดการฐานข้อมูลยางพารา โดย ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนทั้งสองเรื่อง เพราะมาตรฐานการจัดการสวนป่าระดับสากล กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงการมีฐานข้อมูลยางพารา (Big Data) ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจและดำเนินนโยบายต่างๆได้อย่างเป็นรูปธรรม