เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำทัพผู้บริหาร ประกอบด้วย ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) แถลงผลงาน สวทช. ปี 2561 ที่ผ่านมา พร้อมเปิดกลยุทธ์ขับเคลื่อนงานวิจัย ปี 2562 ภายใต้แนวคิด “NSTDA Beyond Limits : 6-6-10” ติดปีกอุตสาหกรรม นำนวัตกรรมไทยสู่สากล”

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ได้เปิดเผยถึงทิศทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของ สวทช. ในปี 2562 ภายใต้แนวคิด NSTDA Beyond Limits : 6-6-10 ว่า รหัส 6–6–10 นั้น เลข 6 ตัวแรก คือ 5 Research pillars หรือ 5 สาขาวิจัยหลักที่เป็นความเชี่ยวชาญของ สวทช. ประกอบด้วย Bioscience and Biotechnology, Nanoscience and Nanotechnology, Electronics and Information Technology, Material and Manufacturing Technology และ Energy Technology รวมกับAgenda–based หรือกลุ่มเทคโนโลยีที่ ตอบโจทย์ความต้องการประเทศในปัจจุบัน

“ขณะที่เลข 6 ตัวต่อไป คือ 6 Frontier research หรือ 6 สาขาวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศ ได้แก่ Quantum Computing, Bionics, Nano Robotic, Terahertz, DNA Data Storage และ Atomic Precision Bioimaging & Plant Electric Circuits

ส่วนตัวเลข 10 คือ กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย เรียกว่า Technology Development Groups หรือ TDGs ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแบบจับต้องได้ ประกอบด้วย (1) สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ หรือ Biochemicals ต่างๆ เช่น สารประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรม (2) สารสกัดที่จะนำมาใช้ทำเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มสมุนไพร (3) ยาแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางชีวภาพ (4) การทำวิจัยการแพทย์แบบแม่นยำ (precision medicine) ที่จะนำไปสู่การตั้งคลังข้อมูลพันธุกรรม การใช้เทคโนโลยีนาโนในการตรวจและรักษา รวมไปถึงการรักษาโรคแบบจำเพาะบุคคล (5) งานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบดิจิทัล (digital) ที่ใช้กับอุปกรณ์ช่วยการผ่าตัด หรือชิ้นส่วนทดแทนอวัยวะต่างๆ (6) Food & Feed เป็นกลุ่มที่ศึกษา functional ingredients ในอาหารคน อาหารสัตว์ และอาหารเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย รวมไปถึง smart packaging แบบต่างๆ ที่จะทำให้อาหารสดอยู่ได้นาน เป็นต้น (7) เกษตรแม่นยำ (precision agriculture) (8) Mobility & Logistics การศึกษาระบบโครงสร้าง การขับเคลื่อนมอเตอร์ การชาร์จไฟ ระบบควบคุมและให้สัญญาณ รวมถึงต้นแบบชิ้นส่วนรถไฟฟ้ารางเบา (9) พลังงาน ทั้งการพัฒนาแบตเตอรี่แบบแพ็ก ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงวัสดุกับระบบพลังงานทางเลือกแบบต่างๆ เช่น ไบโอดีเซล เป็นต้น และสุดท้าย (10) Dual-use defense เช่น การพัฒนาเครื่อง jammer สำหรับโดรน และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่า ทั้ง 10 TDGs เข้ากับพื้นฐานงานวิจัยเดิมของ สวทช. ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยทั้ง 10 TDGs และ 6 Frontier research ได้นั้น ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติที่ดีพอ จึงมีโครงการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ National S&T Infrastructure เพื่อสนับสนุนการพัฒนา วทน. ของประเทศ ประกอบด้วย National Biobank Center, Genome Research Center of Thailand, Thailand Supercomputer Center, Center for Cyber–Physical Systems และ Center for Life Cycle Assessment ขึ้นมารองรับ ศูนย์เหล่านี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นศูนย์ระดับชาติหรือนานาชาติต่อไป จะเห็นได้ว่า หน่วยงานเหล่านี้ในภาพรวม ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานใน สวทช. แต่อย่างใด เราแค่เป็นหน่วยงานที่ใช้ในการบ่มเพาะให้เกิดศูนย์เหล่านี้ขึ้นในตอนแรกเท่านั้น”

“การปรับกระบวนทัศน์ของ สวทช. ดังที่เล่ามาทั้งหมด เป็นความพยายามทำภารกิจขับเคลื่อนประเทศให้กลายเป็น ประเทศไทย 4.0 ได้จริง โดยอาศัยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการจัดการเทคโนโลยีที่ สวทช. มีอยู่ ซึ่ง สวทช. เชื่อมั่นว่า งานวิจัยที่สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้จริง จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวตามระบบเศรษฐกิจหลักที่เป็นเป้าหมายของประเทศ” ดร.ณรงค์ กล่าว

เดินหน้า 5 สาขาวิจัยหลัก

สำหรับ 5 สาขาวิจัยหลัก (5 Research pillars) ที่เป็นความเชี่ยวชาญของ สวทช. คณะผู้บริหาร สวทช. ได้กล่าวถึงความสำคัญและการดำเนินงานในแต่ละสาขาดังต่อไปนี้

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวถึงการดำเนินงานในสาขาวิจัย Material and Manufacturing Technology และ Energy Technology ว่า เอ็มเทคมุ่งใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าจากวัสดุชีวภาพ เช่น ยางพารา การแปรขึ้นรูปวัสดุด้วยเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ระบบการผลิตอัตโนมัติ การออกแบบวิศวกรรมขั้นสูง สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์และวิศวกรรม การสร้างนวัตกรรมสำหรับ การดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยนวัตกรรมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบและ ลดการปนเปื้อนจากสารเคมีอันตรายในวัสดุและผลิตภัณฑ์ สำหรับอาคารที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอดีเซลตามมาตรฐานคุณภาพสากล การพัฒนาแบบเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาวัสดุและระบบ กักเก็บพลังงานไฟฟ้า

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวถึงการดำเนินงานในสาขาวิจัย Electronic and Information Technology ว่า ความเชี่ยวชาญของเนคเทคทางด้าน Cyber Physical Systems (CPS) ซึ่งประกอบด้วย เซ็นเซอร์รับข้อมูล ระบบและเครือข่ายเพื่อเชื่อมต่อข้อมูล และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ทั้งสามส่วนจะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคตมากมาย อาทิ การจัดการเมือง การเกษตรแม่นยำ การศึกษาสมัยใหม่ และอุตสาหกรรม 4.0 เป็นต้น พร้อมกันนี้ ดร.ชัย ยังเน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วย Big Data ซึ่งเนคเทคเดินหน้าวิจัยและพัฒนาระบบเตรียมสำหรับตอบยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ โดยยกตัวอย่างการชี้เป้าคนจนด้วยข้อมูลประชากร และการบริหารเส้นทางเดินรถจัดเก็บขยะแบบอัจฉริยะ บูรณาการข้อมูลจากหลากหลายหน่วยงานจะเป็นสาระสำคัญที่เนคเทคจะขับเน้นให้เป็นฐานรากสำหรับนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวถึงการดำเนินงานในสาขาวิจัย Bioscience and Biotechnology ว่า ในปี 2562 ไบโอเทคพร้อมที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านเกษตรกรรม (Inclusive Growth) และอุตสาหกรรม (Economic Growth) เช่น การนำเอาเทคโนโลยี Plant Factory มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพพืชสมุนไพร การวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อยกระดับการเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ โดยไม่มีการใช้ยาและสารเคมีอันตราย การช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมด้านอาหารและอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรม เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) และเพื่อผลักดันประเทศเข้าสู่ยุค Thailand 4.0

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวถึงการดำเนินงานในสาขาวิจัย Nanoscience and Nanotechnology ว่า นาโนเทคจะมีการวิจัยและพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านเวชสำอางและอาหารเสริม 2. ด้านยาและการแพทย์ 3. ด้านตัวเร่งปฏิกิริยา และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ 4. ด้านนาโนไฮบริดและเทคโนโลยีการเคลือบ และ 5. ด้านการวิเคราะห์ทดสอบทางนาโนเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยและพัฒนาของศูนย์ตามประเด็นมุ่งเน้น สามารถสร้างผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศกว่า 20,000 ล้านบาท การพัฒนางานวิจัยในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อการพัฒนาคุณภาพของอาหารและสุขภาพของสัตว์ สู่การตอบโจทย์ด้านอาหารของคนที่มีคุณภาพและปลอดภัยในอนาคต ตัวอย่างงานวิจัยอาทิ การพัฒนาอาหารสำหรับลูกกุ้งในรูปแบบ ไฮโดรเจล และเทคโนโลยีการกักเก็บเม็ดไฮโดรเจลเหมาะสำหรับอาหารกุ้งแต่ละวัย ส่งผลให้เติบโตเร็วกว่าปกติ ช่วยเพิ่มการดูดซึมของอาหาร กระตุ้นการเจริญเติบโต เหมาะสำหรับกุ้งในแต่ละช่วงวัย การพัฒนานาโนวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในปลานิล โดยใช้เทคโนโลยีการกักเก็บแบบแช่และกิน ทดแทนการฉีดแบบดั้งเดิมซึ่งมีต้นทุนสูง โดยเทคโนโลยี แบบแช่และกินนี้สามารถใช้ได้กับปลาทุกวัย ร่นระยะเวลาการให้วัคซีนรวมไปถึงสามารถให้วีคซีนกับปลานิลได้ครั้งละจำนวนมาก

นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เสริมว่า สวทช. ยังมีงานวิจัยแบบ Agenda–based ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งอย่างจำเพาะ ซึ่งงานกลุ่มนี้ประกอบด้วยเรื่องจำเพาะที่เร่งด่วน และต้องการความสามารถจำเพาะด้าน แยกออกได้เป็น 3 หัวข้อคือ 1. Dual-Use Technology หรือ เทคโนโลยีซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้ทั้งแง่มุมสร้างเสริมความมั่นคงของประเทศ หรือประยุกต์ใช้งานด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่น การใช้ระบบกวนโดรน หรือ jammer หรือเครื่องตรวจจับและติดตามอากาศยานไร้คนขับ ประสบการณ์การทำ T-Box กับการทำงานกับกองทัพมายาวนาน ทำให้เราทำตรงส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี รู้ความต้องการของผู้ใช้งานชัดเจน 2. Rail and Modern Transportation ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงระบบรถไฟฟ้ารางเบา ระบบรางจะทวีความสำคัญในฐานะวิธีการเดินทางหลักภายในเมืองใหญ่ และระหว่างเมือง ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าก็จะทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมันในอนาคตอันใกล้ ทั้งสองเรื่องจึงเป็นการเตรียมความพร้อม สำหรับการปฏิวัติด้านพลังงาน และการขนส่งของประเทศในอนาคตอันใกล้ และ 3. Medical Devices and Assistive Technology หรือ การพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเรื่องของเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ซึ่งใช้สำหรับทั้งกับผู้สูงอายุและผู้พิการ จัดเป็นเรื่องเร่งด่วน สำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยประเทศยังขาดความพร้อมในหลายด้าน ตัวอย่างงานในด้านนี้ ของ สวทช. ได้แก่ Dentiiscan หรือ เครื่องเอกซเรย์ 3 มิติทางทันตกรรม ทั้งนี้ เมืองไทยยังต้องการอุปกรณ์การแพทย์จำพวกนี้อีกมาก ทั้ง hardware และ software เป็นต้น

ผลงานปี 61 โชว์ศักยภาพวิจัยฯ สร้างผลกระทบ 4.5 หมื่นล้านบาท

ผู้อำนวยการ สวทช. เพิ่มเติมว่า ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา สวทช. ได้มุ่งมั่นพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมาย “ประเทศไทย 4.0” โดย มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ ด้านงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 546 เรื่อง มากกว่า 1 ใน 4 ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติชั้นนำของโลก และถูกนำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้ มีการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญามากถึง 383 รายการ

สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. ถ่ายทอดผลงาน 261 โครงการ ให้กับหน่วยงานต่างๆ รวม 335 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มากกว่า 45,000 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ มูลค่าเกือบ 14,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สวทช. มีกลไกสนับสนุน สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น อาทิ เทคโนโลยีราคาเดียว 30,000 บาท มีผู้ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 485 รายการ ภาษี 300% มีการรับรอง 404 โครงการ มูลค่า 1,313 ล้านบาท บัญชีนวัตกรรมไทย คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผลงานนวัตกรรม และได้อนุมัติผู้ยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยรวมทั้งสิ้น 270 ผลงาน โดยสำนักงบประมาณ ประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 226 ผลงาน โครงการสตาร์ทอัพ เวาเชอร์ (Startup Voucher) สนับสนุนเงินด้านการตลาด 87 ราย มูลค่ากว่า 64 ล้านบาท สร้างรายได้รวม 915 ล้านบาท โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ได้สนับสนุน SMEs จำนวน 1,610 ราย มีการลงทุน 737 ล้านบาท สร้างผลกระทบ มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และ ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ ให้บริการมากกว่า 50,000 รายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 180 ล้านบาท ด้านการพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ให้ทุนการศึกษาพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัยอาชีพที่มีศักยภาพให้กับประเทศมากกว่า 790 ทุน สนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานในห้องปฏิบัติการของศูนย์แห่งชาติ 324 คน และส่งเสริมพัฒนาเยาวชนเข้าสู่อาชีพนักวิจัย เช่น การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ Asia Pacific Conference on Giftedness หรือ APCG 2018

สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกร สวทช. ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร จำนวน 6,781 คน 264 ชุมชน ใน 35 จังหวัด จัดทำชุดความรู้เทคโนโลยี 19 ชุด ผลักดันให้เกิดกลุ่มคลัสเตอร์แปรรูป 2 กลุ่มได้แก่ มะม่วง และกะหล่ำปลี และพัฒนาเกษตรกรแกนนำ ผู้ประกอบการนวัตกรรม 825 คน ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ในส่วนของตัวอย่างการสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ เช่น ผลงานผลิตภัณฑ์นาฬิกาโทรศัพท์ป้องกันเด็กหาย ของบริษัท โพโมะ เฮาส์ จำกัด ซึ่งโครงการ ITAP ได้ช่วยให้คำปรึกษา พัฒนาเทคโนโลยีของ SMEs ให้แตกต่างด้วยนวัตกรรม การผลักดันให้ผู้ประกอบการ/ผู้เช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ประกอบธุรกิจได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง อาทิ บริษัท ที-เน็ต จำกัด (T-NET Co.,Ltd.) ให้คำปรึกษาความปลอดภัยในการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) (Betagro) ผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารครบวงจรของประเทศไทย บริษัท โซเอทิส (ประเทศไทย) จำกัด (Zoetis) บริษัทระดับโลกที่ดูแลผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง บริษัท โพลิพลาสติกส์ มาร์เก็ตติ้ง (ที) จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเชิงวิศวกรรมชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ได้จัดตั้ง ASEAN Polyplastic Technical Solution Center ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

วิจัยตอบโจทย์ประเทศด้วยโครงการ BIG ROCK

สวทช. ได้มุ่งมั่นใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ได้แก่“โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่” หรือ BIG ROCK เช่น โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียนหรือ Coding at School Project ฝึกเยาวชนเขียนโปรแกรมด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright โครงการ โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) หรือ FabLab พัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โครงการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ วิจัย และใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมและชุมชน (National Biobank) โครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีก้าวหน้าเพื่อการผลิตสมุนไพร (Plant Factory) โครงการขยายผลงานวิจัย DentiiScan เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย เป็นต้น

วิจัยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพิ่มรายได้เกษตกร

ด้านผลงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เช่น สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีผลผลิตสูง สามารถต้านทานต่อโรค แมลง และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ “บิวเวอเรีย” ควบคุมและกำจัดเพลี้ยแป้ง การประเมินและทดสอบพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับชนิดดินต่างๆ ของประเทศ การขยายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 3-4 ตัน/ไร่ เป็น 5-6 ตัน/ไร่ ส่งผลให้ในปี 2561 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 9.34 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังพิรุณ 4 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นใหม่โดย สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิชาการเกษตร พื้นที่ปลูกรวมกว่า 3,200 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ลำปาง และนครสวรรค์ ให้ผลผลิตหัวสดสูง ปริมาณไซยาไนด์ในหัวสดต่ำ สามารถรับประทานได้ เหมาะสำหรับทำแป้งฟลาวที่ปราศจากสารกลูเต็น ทดแทนแป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ อีกทั้งได้เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพิรุณ 4 กับกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลผลิต ยกระดับการแปรรูปมันสำปะหลังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น มันแผ่นอบกรอบ (มันชิพ) บราวนี่อบกรอบ มันบอล เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการแปรรูปข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าสู่การสร้างธุรกิจ โรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสง บ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งหมดนี้ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร พร้อมที่จะ Go Beyond Limits โดยใช้ศักยภาพของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวพ้นคำว่า “ประเทศกับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่ประเทศไทย 4.0 นำพาอุตสาหกรรมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยวิจัย และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here