เมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ได้ประชุมติดตามผลการดำเนินงานสนับสนุนงานวิจัยต่อยอดการผลิตและแปรรูปยางพาราของไทย เพื่อสร้างนวัตกรรมยางพาราในรูปแบบต่างๆ ณ ห้องประชุมรัษฎา การยางแห่งประเทศไทย พร้อมศึกษาดูงานโรงงานผลิต NR Preblend สำหรับงานก่อนสร้างถนน para soil cement
นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา มีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศว.พว.) ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มในเรื่องเทคโนโลยีด้านยางพารา และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการวิจัย กิจกรรมของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เช่น โครงการ In house training ซึ่งเป็นการจัดทำและอบรมหลักสูตรเทคโนโลยียางเบื้องต้นให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โครงการ Coaching โดยการเข้าไปดูแลผู้ประกอบกิจการยาง ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ พัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ่านการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาหุ่น CPR ทั้งระดับพื้นฐานและระดับขั้นสูง ซึ่งมูลนิธิสอนช่วยชีวิต และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำผลิตภัณฑ์จากการพัฒนาทั้งหมดไปเผยแพร่และใช้ในการเรียนการสอน สำหรับเครื่อง AED และ Anti-Choke ที่ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้ ส.อ.ท. ได้นำหุ่นไปเสนอเพื่อจำหน่ายแล้ว
สำหรับการร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงานเป็นเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา นับเป็นเรื่องที่ดี ที่ผ่านมาโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ร่วมมือกันได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามบักทึกข้อตกลงที่กำหนด จึงเป็นการช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ สนับสนุนให้เกิดเป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการยางพารา ซึ่งจะสร้างประโยชน์แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการยางพาราไทย ตลอดจนประเทศชาติต่อไป
นางณพรัตน์ เพิ่มเติมว่า นอกจากการประชุมพูดคุยในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้เดินทางศึกษาดูงานขั้นตอนการผลิต NR Preblend ซึ่งเป็นน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มสำหรับงานดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติสำหรับใช้ในงานก่อสร้างถนน ทั้งที่เป็นพื้นทางและผิวทางแบบ Para Soil Cement เพื่อให้หน่วยงงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการก่อสร้างทาง