ดัชนีฯ มีนาคม ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เกิดจากแรงหนุนในประเทศ ยานยนต์ ก่อสร้าง สิ่งพิมพ์ และอาหารยอดขายพุ่ง หวังเร่งจัดตั้งรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนมีนาคม 2562 จำนวน 1,207 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 28.3, 40.8 และ 30.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 38.4, 14.1, 13.2, 21.0 และ13.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.0 และ 20.0 ตามลำดับ
โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 96.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 95.6  ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในองค์ประกอบ ยอด-คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
จากการสำรวจ พบว่า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ ขณะเดียวกันการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ทำให้ยอดขายและยอดคำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น อีกทั้งผู้ประกอบการได้เร่งการผลิต เพื่อชดเชยในเดือนเมษายน ที่มีวันทำงานน้อยกว่าปกติเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สะท้อนจากดัชนีปริมาณการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการเมืองภายในประเทศหลังการเลือกตั้ง จึงต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยภายนอกประเทศทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงเห็นว่าการบริโภคภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 104.2 โดยลดลงจาก 105.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีสาเหตุจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ยังเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here