กรุงเทพฯ 17 พฤษภาคม 2562 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานแถลงข่าว “โครงการทุนปริญญาตรีเฉลิมพระเกียรติ “สืบสาน ร.9 เพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่” เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนทุนการศึกษา สนับสนุนโอกาสด้านการศึกษาให้แก่เกษตรกรไทยโครงการดังกล่าวเป็นหลักสูตรศึกษาต่อระดับปริญญาตรี 2 ปี เพื่อผลิตบัณฑิตด้านการเกษตรยุคใหม่ ตอบสนองการพัฒนากำลังคนและพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย หวังให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต บุคลากรมีความรู้ความสามารถ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่จะต้องพัฒนาเกษตรกรของประเทศให้มีศักยภาพ มีความรู้ และทักษะที่จะสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลจึงมีนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร สู่การทำเกษตรแบบ 4.0 เพื่อให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งยังมีแรงกดดันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศน์ในภาคการเกษตรไทย และความเสี่ยงจาก Disruptive Technology กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer มีความรอบรู้ในระบบการผลิตด้านการเกษตรแต่ละสาขา สามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงและบริหารจัดการการผลิตและตลาด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำอาชีพเกษตรกรรมที่ดีขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปีพุทธศักราช 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากรวิจัย และพัฒนาข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยการเกษตร ได้จัดทำโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการทุนปริญญาตรีเฉลิมพระเกียรติ “สืบสาน ร.9 เพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่”เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อสร้างนักวิจัยด้านการเกษตรระดับชุมชน และเป็นผู้นำการเกษตรให้กับชุมชน เป็นหลักสูตรที่ปรับใหม่ มุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติจริงในภาคสนาม มีความเฉพาะและเหมาะสมกับกลุ่มเกษตรกรที่มีประสบการณ์ในการทำเกษตรมาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) โครงการเผยแพร่สื่อความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางท้องทะเล เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ และเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของแนวปะการังและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทย สืบสานการดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรตามแนวทางรัชกาลที่ 9 สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ และเป็นการรักษาและต่อยอดตามแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 10 ให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างแท้จริงต่อไป
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรกล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในด้านการเป็นผู้นำในการบริหารการวิจัยการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีพันธกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยการเกษตร 2) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร และ 3) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยการเกษตร ซึ่งผมในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เห็นความทุ่มเทในการทำงานเพื่อพัฒนาภาคเกษตรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จากการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการส่งเสริม และสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรวิจัย จำนวน 5 ประเภท ได้แก่ 1) ทุนการศึกษา ประกอบด้วย ทุน สวก. ตรี-โท-เอก ทุนปริญญาเอก 80 พรรษา และทุนปริญญาเอก 70 ปี ซึ่งเป็นการสนับสนุนทุนการศึกษาในระยะยาว 2) ทุนฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ 3) ทุนโครงการพัฒนาทีมบุคลากรวิจัย 4) ทุนนำเสนอผลงานวิจัย ณ ต่างประเทศ และ 5) โครงการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย
“ล่าสุด สวก. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดทำโครงการทุนปริญญาตรีเฉลิมพระเกียรติ “สืบสาน ร.9 เพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่” เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้น ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตรของไทย โดยคัดเลือกผู้ที่เป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีประสบการณ์มาเสริมองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมใหม่สู่ชุมชน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ จัดทำขึ้นเพื่อสร้างนักวิจัยด้านการเกษตรและผู้นำการเกษตรให้กับชุมชน เป็นหลักสูตรที่ปรับใหม่ มุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติจริงในภาคสนาม และวิชาชีพบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ทั้งในเรื่องของการประกอบการกิจการยุคใหม่ การเข้าใจและเข้าถึงชุมชน โดยเราได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษา และสานต่อแนวพระราชดำริในการส่งเสริมบุคลากรด้านการเกษตรให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยนำแนวคิดศาสตร์พระราชา ศาสตร์ชุมชน ศาสตร์สากล มาใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตร วท.บ.ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า เป็นหลักสูตรที่การบูรณาการศาสตร์ องค์ความรู้ และบุคลากร ของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ เน้นการบูรณาการศาสตร์หลากหลายด้านเพื่อสร้างอาชีพให้แก่บัณฑิต ประชาชนทั่วไป มีรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมาใหม่คือการสอนแบบชุดวิชา (module) ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรในแต่ละชุดวิชาเพื่อสะสมในธนาคารหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย และขอรับปริญญาได้ การเรียนการสอนในแต่ละชุดรายวิชา เน้นการปฏิบัติจริงในพื้นที่และการปฏิบัติร่วมกับสถานประกอบการ (work integrated learning) รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความสนใจ ออกแบบการเรียนได้ตามที่ตนเองต้องการ (tailor-made) เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้รายบุคคล ที่สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เน้นส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในการเป็นผู้ประกอบการ การเกษตรสมัยใหม่ (smart farming) สามารถเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (start-up) หรือเกษตรกรแบบผู้ประกอบการ
โดยทุนการศึกษาสำหรับโครงการ “ทุนปริญญาตรีเฉลิมพระเกียรติ “สืบสาน ร.9” เพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่” นี้ เป็นการมอบทุนการศึกษาในหลักสูตรศึกษาต่อระดับปริญญาตรี 2 ปี ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า รวมจำนวน 90 ทุน งบประมาณรวม 31,500,000 บาท (350,000 บาทต่อทุน) โดยมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2562 – 2564) ปีละ 30 ทุน หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นแบบทวิภาค แบ่งเวลาศึกษาในปีการศึกษา ออกเป็น 2 ภาคการศึกษา ใช้เวลาเรียน 2 ปี นิสิตจะต้องมีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิต ศึกษาในสาขาวิชา วิทยาศาสตรบัณฑิต (ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ชื่อย่อคือ วท.บ. (ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) หรือ Bachelor of Science (Knowledge of The Land for Sustainable Development) ชื่อย่อ B.S. (Knowledge of The Land for Sustainable Development) ศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และวิทยาเขตกำแพงแสน และฝึกภาคสนามที่แปลง/ฟาร์มในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ชุมชนเกษตรกรรมของนิสิตที่ได้รับทุนการศึกษา หรือพื้นที่ทำการเกษตรของเอกชน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โทร. 02–579-7435 หรือคลิกเพื่อดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.arda.or.th