กระทรวงเกษตร ร่วมมือ GIZ เปิดตัวโครงการ Thai Rice NAMA ผลิตข้าวเบอร์ 5 โดยใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดโลกร้อน หวังเปิดตลาดข้าวรักษ์โลก เพิ่มมูลค่าข้าวไทย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโครงการ Thai Rice NAMA ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 600 ล้านบาท) จากรัฐบาลประเทศเยอรมัน  รัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลเดนมาร์กและสหภาพยุโรป ผ่านโครงการ NAMA Facility มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี (2561 – 2566) สำหรับดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกร จำนวน 100,000 ครัวเรือนในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.8 ล้านไร่  มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการทำนาในปัจจุบันไปสู่ระบบการทำนาแบบยั่งยืนโดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงขณะเดียวกันก็ยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งย่อมเป็นการผลิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันยังเพิ่มประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นนันเอง  โครงการมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1) เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่เกษตรกรทั้งการทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (Thai Rice GAP++) 2) เพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจการให้บริการเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการทำนา และ 3) เพื่อให้มีมาตรการจูงใจที่สนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบเป็นไปในรูปแบบที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)หรือโลกร้อน ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ นานาประเทศจึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบในเรื่องนี้ องค์การสหประชาชาติได้รณรงค์ให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและวัดผลได้ สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีให้คำยืนยันในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมลดใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหากได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ จะลดลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปีพ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ ที่ชัดเจนของประเทศไทยที่จะร่วมกับนานาประเทศ ในการดำเนินงานที่ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้ว่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย จะยังคงเป็นภาคพลังงานและการขนส่งเป็นอันดับแรก แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคอื่นๆ ไม่ต้องคำนึงถึง ทุกภาคส่วนรวมทั้งภาคเกษตร มีส่วนร่วมในการ   เตรียมความพร้อมและปรับตัวให้มุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หากไม่มีการปรับตัว ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะย้อนกลับทำให้เกิดทำให้เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเกษตรกร และการพัฒนาประเทศในภาพรวม

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังระบุว่า การดำเนินการโครงการนี้จะมุ่งเน้นให้เกษตรกรรายย่อย  มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบปัจจุบันไปสู่การทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีเฉพาะที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งการปรับพื้นที่ให้เสมอกัน การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตาม ค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการฟางและตอซังเพื่อลดการเผา และอื่นๆ ซึ่งจะประหยัดน้ำและลดน้ำท่วมในแปลงลง โดยโครงการจะมีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน และให้การฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี การผลิตข้าวที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการปล่อยสินเชื่อสีเขียวให้แก่ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ โครงการจะให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมทั้ง การพัฒนามาตรฐาน Thai Rice GAP++ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดและห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป

นางสาวดุจเดือนฯ ย้ำว่า จะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ GIZ และยังร่วมมือกับ ธกส. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารกองทุนสำหรับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ นั้น ไม่ได้มีเฉพาะกรมการข้าว  แต่ครอบคลุม กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน ทั้งนี้ คาดว่า จะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นเกษตรกรและผู้ให้บริการเทคโนโลยีจำนวน 454,200 คน   โครงการมีพื้นที่เป้าหมายซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกแบ่งเป็น นาปรังประมาณ 2.8 ล้านไร่ และนาปีอีก 2.8 ล้านไร่ โดยคาดว่าจะได้ผลผลิตสูงสุดประมาณ 4 ล้านตันต่อปี

สำหรับความเป็นมานั้น กรมการข้าว ได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เสนอแนวคิดโครงการ Thai Rice NAMA ต่อ NAMA Facility และได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 โครงการ จากทั้งหมด 77 โครงการ เพื่อรับเงินสนับสนุนในการจัดเตรียมข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ (Full proposal) โดยกรมการข้าวได้ส่งจัดข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ให้ทาง NAMA Facility เพื่อพิจารณาในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ นามา ฟาซิลิตี (NAMA Facility) ได้แจ้งผลการยื่นข้อเสนอกลับมาทางอีเมล์ว่า “โครงการ Thai Rice NAMA” ผ่านการอนุมัติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 และประสงค์จะมอบเงินทุนจำนวน 14.9 ล้านยูโร หรือ 576 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการ Thai Rice NAMA ระยะเวลา 5 ปี (สิงหาคม 2561 – สิงหาคม 2566)

ในการนี้ หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนโครงการร่วมกับหน่วยงานภาคีอาทิ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัทผู้ส่งออกข้าว ได้แก่ บริษัท OLAM international บริษัท เออร์บา บางกอก สำนักงานเลขาธิการมาตรฐานข้าวยั่งยืน (SRP) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานข้าว ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และยกระดับการผลิตข้าวยั่งยืนให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาด ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โครงการฯ มีเป้าหมายที่จะทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 100,000 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่ชลประทาน 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี อยุธยา และสุพรรณบุรี และลุ่มน้ำใกล้เคียง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here