การยางแห่งประเทศไทย เผยตัวเลขการดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (คสข.) คืบหน้าจ่ายเงินไปแล้ว 91% เป็นเงินกว่า 12,800 ล้านบาท พร้อมกระตุ้นโครงการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มขึ้นหวังดันราคาขยับตัวขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
 

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง จ่ายเงินช่วยเหลือ 1,800 บาท/ไร่ ที่มีเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการ จำนวน 820,862 ราย คิดเป็นพื้นที่ 7,838,839.96 ไร่ แบ่งเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนยาง ผู้เช่าสวนยาง ผู้ทำสวนยาง จำนวน  747,852 ราย คนกรีดยาง  จำนวน  89,022  ราย รวมเป็นเงินที่จ่ายผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ทั้งสิ้น 12,856,858,512.52  บาท คิดเป็นร้อยละ 91.11 โดยที่เหลืออีกร้อยละ 8.89 อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์ในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของเกษตรกร อาทิ ชื่อ-นามสกุลผิด เลขที่เอกสารสิทธิ์ผิด หรือการเปลี่ยนแปลงเอกสารสิทธิ์ รวมถึงระบบฐานข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อน การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดของแต่ละพื้นที่ได้แร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จในเร็วๆนี้

นายเยี่ยม ยังเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการะยะสั้นในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตลอดจนสร้างความเข้มแข็งและช่วยเหลือค่าของชีพของคนกรีดยางให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ได้ดำเนินมาตรการระยะกลาง และระยะยาวเพื่อกระตุ้นราคายาง โดยเน้นให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศ เช่น โครงการส่งเสริมใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ โครงการถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร จำนวน 7,500 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถดูดซับยางออกจากระบบไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 หรือประมาณ 860,000 ตันน้ำยางข้น เมื่อเทียบกับผลผลิตประเทศไทยในปี 2561 มาตรการเพิ่มแรงจูงใจเพื่อให้ผู้ประกอบการเพิ่มการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) การให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา การลดพื้นที่ปลูกยางโดยการปลูกพืชอื่นทดแทน เป้าหมายปีละ 400,000 ไร่

นอกจากนี้ กยท. ได้มีการเข้าไปประมูลซื้อขายยางในตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาราคายางปรับตัวสูงขึ้นจาก 40 บาท/กิโลกรัม มาอยู่ที่ 50 บาท/กิโลกรัม ในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here