สกสว. จัดงานมอบรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 เชิดชูเกียรตินักวิจัยที่ผลิตผลงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสู่ความท้าทายในการต่อยอด “งานวิจัยเพื่ออนาคต”
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เดิมคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 ณ โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัย และผลงานวิจัย ที่มีคุณภาพ สร้างผลประโยชน์และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัล พร้อมด้วย ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชนร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้
ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษว่า “คนไทยต้องหลุดพ้นจากวังวนกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ เพราะเรากำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย แก่ก่อนรวย ความรู้ความสามารถไม่สูง มีปัญหาโครงสร้างเชิงระบบและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของรัฐ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล เรียนฟรีไม่มีคุณภาพ แต่หากเรียนอย่างมีคุณภาพก็จะไม่ฟรี คนไทยยังขาดวิสัยทัศน์ที่จะแข่งขันในเวทีโลก สภาพแวดล้อม รายได้ที่ขาดหายไปจากสงครามทางการค้าทำให้เงินหายไปจากระบบ 5 แสนล้านบาท งบจากภาครัฐมีขีดจำกัดในการเติบโต เราต้องช่วยกันหางบวิจัยผลักดันตัวเลขนี้ออกมา ไม่ใช่พึ่งพาแต่งบ สกสว.ประจำปีอย่างเดียว ปัญหาสำคัญ คือ โครงสร้างประชากร ปี 2600 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน อินเดีย แอฟริกา ส่งผลต่อการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะจะผันแปรแบบสุดขั้ว นำไปสู่ปัญหาอีกมากมายไม่ใช่แค่โลกร้อน น้ำแข็งละลาย แต่มีเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาแหล่งน้ำและการใช้น้ำ การเพาะปลูก กิจกรรมทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากร ส่งแรงกดดันมหาศาล ทุกคนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
“หวังว่าการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำจะไม่ใช่คำตอบทางการเงินอย่างเดียว แต่เป็นไปด้วยความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้สุขภาพดีมีชีวิตที่ยาวนานขึ้น เพราะการพัฒนาไม่ขึ้นอยู่กับการศึกษาอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสุขภาพด้วย การพัฒนาประเทศไทยต้องรู้ว่าเราต้องการอะไร และต้องเลือกคนเข้ามาทำให้ประเทศพัฒนาได้ รัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจากคนใช้ทรัพยากรมาเป็นคนที่ Make it Happen ต้องส่งเสริมคนไทยให้เป็นผู้ประกอบการที่ดี ไม่ทะเลาะกันเอง พัฒนาจนเป็น Trading Nation ลดการทะเลาะกับคน แต่หันมาเจรจาการค้าเพื่อผลประโยชน์ของชาติ อยากฝากนักวิชาการไว้ว่าเราได้รับการศึกษาจากโลกตะวันตก แต่ไม่ชอบศึกษาโลกตะวันออกเพราะมักมีข้ออ้างว่าเป็นจีน เกาหลี สิงคโปร์ สนใจแต่ภาพลักษณ์ภายนอก เราต้องรู้จักประเทศตะวันออกมากขึ้น ศึกษาประเทศเหล่านี้ให้ดีแล้วจะได้เปรียบ”
ด้าน ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า “สกว. มีบทบาทในการสนับสนุนทุนวิจัยให้ครอบคลุมทุกศาสตร์ มีการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นการผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทุกมิติ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้มีคุณภาพในระดับสากล ทุกภารกิจที่ สกว. ดำเนินการมาอย่าง ต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญให้แก่ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ซึ่งแต่ละปี สกว. มีผลงานวิจัยจำนวนมากที่ล้วนมีคุณค่า และแม้ว่าขณะนี้ สกว. ได้เปลี่ยนบทบาทเป็น สกสว. ที่มีภารกิจหลัก ในการจัดทำและกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) แต่การจัดพิธี มอบรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อให้ประชาคมวิจัยและสาธารณะ เห็นต้นแบบการทำงานวิจัยที่สามารถส่งมอบประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัย สกว. ที่ผลิตผลงานได้อย่างมีคุณภาพและเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยตลอดมา” สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นนี้ คือ ต้องเป็นผลงานวิจัยที่ประสบผลสําเร็จ มีผู้ใช้ประโยชน์ และปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในวงการที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม นําไปสู่การพัฒนาในวงกว้าง อีกทั้งต้องมีวิธีการวิจัยเป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ โดยแบ่งกลุ่มพิจารณาตามลักษณะการนําผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 5 ด้าน รวมทั้งสิ้น 13 ผลงาน ประกอบด้วย
ด้านนโยบาย จํานวน 1 ผลงาน ได้แก่ “อนาคตสิมิลัน บนความสมดุลของการท่องเที่ยว” โดย ผศ. ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านสาธารณะ จํานวน 1 รางวัล ได้แก่ “การบูรณะ โบราณสถานเพื่อรากฐานการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” ซึ่งมี รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าชุดโครงการ
ด้านพาณิชย์ จํานวน 4 ผลงาน ได้แก่ “หุ่นยนต์สำหรับการขูดหน้ายางรถยนต์อัตโนมัติใน กระบวนการผลิต ยางหล่อดอก” โดย ผศ. ดร.ชนะ รักษ์ศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,  “การผลิตเนื้อไก่ กรดยูริคต่ำจากไก่ลูกผสมพื้นเมืองเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดอาหารสุขภาพในระดับ อุตสาหกรรม” โดย ศ. ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา มหาวิทยาลัยขอนแก่น “ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับ การเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารเคมีมูลค่าเพิ่ม” โดย รศ. ดร.ธงไทย วิฑูรย์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และ “เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” โดย ดร.ธารา สีสะอาด และ ผศ. ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้านชุมชนและพื้นที่ จํานวน 4 ผลงาน ได้แก่ “การฟื้นฟูดินปนเปื้อนสารอันตรายด้วยอนุภาคนาโน เพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัย โดยชุมชนเพื่อชุมชน: กรณีนำร่องนาข้าวปนเปื้อนแคดเมียม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก” โดย ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร “บางชะนีโมเดล กระบวนการปรับตัวของ ชาวนาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ” โดย นางเรณู กสิกุล นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น “งานวิจัยไร้พรมแดน 45 ปี แห่งการพลัดพรากสู่การฟื้นความสัมพันธ์ชุมชนท้องถิ่นชายแดน ไทย-กัมพูชา” โดย นายรุ่งวิชิต คำงาม นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ “นวัตกรรมการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยในประเทศไทย” โดย ดร.ปฏิมาพร ปลอดภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ด้านวิชาการ จํานวน 3 ผลงาน ได้แก่ “นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุค สงครามเย็น : สี่กรณีศึกษาเปรียบเทียบ” โดย นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต “งานวิจัยมุ่งเป้า ในการศึกษา สมุนไพรไทยและใช้เทคโนโลยีต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” โดย ศ. ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ “นวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าเคมี จากวัสดุผสมของกราฟีนแอโรเจล” โดย ผศ. ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ สถาบันวิทยสิริเมธี
ทั้งนี้ ความสำเร็จของทั้ง 13 ผลงาน ล้วนมาจากพลังปัญญาและความทุ่มเทของคณะผู้วิจัย รวมทั้งการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จนทำให้ผลงานวิจัย ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและสร้างผลกระทบเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปใน ทิศทางที่ดี ดังที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ และในโอกาสที่ สกว. ดำเนินงานมาเกือบ 3 ทศวรรษ กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ บทบาทใหม่เป็น สกสว. ซึ่งภารกิจต่อจากนี้ไปนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการทำแผนยุทธศาสตร์  ววน. ที่สอดรับกับระบบงบประมาณการสนับสนุนส่งเสริมระบบนิเวศที่จำเป็นเพื่อการขับเคลื่อนระบบ ววน.ของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อให้เกิดศักยภาพ ในการสร้างผลลัพธ์ที่สามารถนำพาประเทศให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับ การพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อน ไปบนฐานความรู้และนวัตกรรม ให้เป็นไปตามพันธกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “เปลี่ยนแปลงสู่ความท้าทาย”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here