ขณะนี้ พบการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หลังเคยพบการระบาดเป็นพื้นที่วงกว้างในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รุดลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. ได้รับแจ้งจากเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่าน กยท. จังหวัดนราธิวาสว่าพบต้นยางมีอาการใบร่วงเป็นจำนวนมากแทบหมดทั้งต้น โดยพบเป็นแห่ง ๆ ในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง และอำเภอรือเสาะ ตนและคณะนักวิชาการด้านโรคพืช จึงได้ลงไปตรวจสอบเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าจากการดูลักษณะอาการที่ปรากฏบนใบ และการร่วงของใบมีลักษณะเช่นเดียวกับการรายงานของประเทศสมาชิก IRRDB (อินโดนีเซีย มาเลเซีย และศรีลังกา) ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ลงความเห็นว่าเชื้อสาเหตุคือ เชื้อรา Pestalotiopsis sp.
นายกฤษดา กล่าวต่อว่า เป็นไปได้ที่เชื้อราตัวนี้ มีการแพร่กระจายเข้ามาระบาดในพื้นที่ปลูกยางแถบชายแดนรอยต่อกับประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกันคือร้อนชื้นและฝนตกชุก โดยพบลักษณะอาการปรากฏบนใบยางแก่ เมื่อเริ่มแสดงอาการปรากฏรอยช้ำๆ เป็นกลุ่มเห็นชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะแสดงอาการเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง (chlorosis) ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง (necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการโรครุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน ต้นยางอายุมากขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าต้นยางอายุน้อยขนาดเล็ก อาการใบร่วงจากเชื้อรานี้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยาง เนื่องจากมีใบร่วงมากกว่าร้อยละ 90 จึงเป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 30-50 และพบในทุกพันธุ์ยางที่ปลูกในพื้นที่นั้น ได้แก่พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และ พันธุ์ PB 311