อีกหนึ่งหนทางที่จะเพิ่มราคายางพาราที่กำลังตกต่ำ คือ การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้พัฒนา 5 ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่พร้อมถ่ายทอดสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ปัจจุบันราคายางตกต่ำยังเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากปริมาณการผลิตยางดิบมีมากกว่าความต้องการของตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางจากการขายน้ำยางสดและยางดิบลดลง จากที่เคยมีรายได้เดิมมากถึง 50% หรือบางครั้งมากกว่า ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกร
“วว. เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) พัฒนายางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยผลงานดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ” ดร.ลักษมี ระบุ
นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราแล้ว วว. ยังมีขีดความสามารถด้านการวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์จากยาง และมีห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน มีการปฏิบัติงานสอดคล้องตามระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025 ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น แผ่นยางรองรางรถไฟ แผ่นยางปูพื้น
สำหรับ 5 ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พัฒนามีดังนี้
ถุงมือผ้าเคลือบยาง
มีคุณสมบัติป้องกันการบาดคม บาดเฉือน นำไปใช้งานด้านเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์มีทั้งชนิดหนาและชนิดบาง โดยน้ำยางจะช่วยเพิ่มความทนทานให้แก่ถุงมือ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางได้มากขึ้นกว่า 10 เท่า ด้วยน้ำยาง 1 กิโลกรัม สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางได้ถึง 30 คู่ ทั้งนี้หากในอนาคตสามารถขยายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมโดยใช้เครื่องจักรแบบต่อเนื่องที่มีกำลังการผลิตเดือนละ 500,000 คู่ จะมีปริมาณการใช้น้ำยางข้นต่อเดือนประมาณ 16.7 ตัน หรือคิดเป็นปริมาณน้ำยางสด 33.4 ตัน
นอกจากการสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว วว. ยังได้พัฒนานวัตกรรมในกระบวนการผลิตถุงมือผ้าเคลือบยาง ได้แก่ เครื่องชุบกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งมีกำลังผลิตชุบเคลือบถุงมือผ้าด้วยยางพาราจำนวน 300 คู่/8 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้แรงงานคนจะชุบได้ 50 คู่/วัน/คน
ที่นอนและหมอนยางพารา
วว. ใช้เทคโนโลยีด้านนวัตกรรมวัสดุในการพัฒนาเป็นที่นอนและหมอนสุคนธบำบัด โดยร่วมกับการใช้กลิ่นที่สกัดจากพืชชนิดต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้นอนหลับง่าย ปรับอารมณ์ให้สมดุลและสงบ ช่วยผ่อนคลาย เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นหญ้าแฝก และกลิ่นจัสมิน (มะลิ) เป็นต้น โดยสามารถเพิ่มมูลค่าน้ำยางพาราได้ 3-5 เท่า
แผ่นยางปูพื้น
ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรม มีคุณสมบัติเป็นไปตาม มอก. 2377-2551 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราได้ถึง 2-4 เท่า ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้น ผลงานวิจัยนี้ วว. ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พัฒนาขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ปัจจุบันนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานจริงที่โรงพยาบาลวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อใช้ฝึกกายภาพสำหรับหัดเดินของผู้ป่วย และฝึกพัฒนาการเด็กเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนและคนไข้ที่เข้ามารับการรักษา
ชุดวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งจากธรรมชาติ
ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.ชั้นป้องกันการกัดเซาะจากบล็อกประสานรูปแบบใหม่ที่ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยน้ำยางพารา สามารถก่อสร้างได้ง่าย ต้นทุนถูก และ 2.ชั้นกรองจากผ้าเคลือบน้ำยางพารา ทำหน้าที่กักเก็บดินไม่ให้ถูกชะออกจากบริเวณตลิ่ง ในขณะเดียวกันมีความสามารถยอมให้น้ำซึมผ่านชั้นวัสดุได้ เพื่อลดแรงดันน้ำที่ไหลออกจากดินตามแนวตลิ่ง ทั้งนี้ ชุดวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง สามารถส่งเสริมให้เกิดการสะสมและการสร้างชั้นตะกอนดินบนแผ่นวัสดุ ซึ่งพืชสามารถเจริญเติบโตโดยมีรากช่วยยึดโยงเสริมความแข็งแรงให้กับแนวตลิ่งได้
เครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ
สำหรับใช้พิมพ์รูปแบบเท้าเฉพาะของแต่ละบุคคล โดยการนำน้ำยางพาราข้นมาพัฒนาเป็นถุงแบบพิมพ์รอยเท้า เพื่อใช้ในการทำแผ่นเสริมรองเท้าให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีลักษณะเท้าไม่เข้ากับมาตรฐานหรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพและเล่นกีฬา ให้สวมใส่ได้สบายและถูกสุขลักษณะในการเดิน ช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าของน้ำยางข้นได้ถึง 10 เท่าตัว มีต้นทุนการผลิตเครื่องถูกกว่าท้องตลาด 75% ทดแทนการนำเข้าที่มีราคาหลายแสนบาท
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัย วว. ได้ที่ Call center โทร. 0 2577 9300 หรือที่โทร. 0 2577 9000 E-mail : tistr@tistr.or.th