มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างผลงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตรของประเทศไทยให้มีความทันสมัยสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีความมั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญคือ การส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และงานวิจัยมีความพร้อมที่จะให้ภาคเอกชนนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือสร้างผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในยุคปัจจุบันที่ต้องการนำเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ขึ้นจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ไปช่วยในการพัฒนา ผู้ประกอบการของประเทศให้มีความเข้มแข็ง

เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย “กาวน้ำที่มีส่วนผสม ของน้ำยางธรรมชาติ,ฟีนอลิก เรซิน และกัมโรซินและกรรมวิธีการผลิต” เลขที่อนุสิทธิบัตร 10454 และลงนามต่อยอดและพัฒนาผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยกาวน้ำยางแข็งตัวและไฟลามช้าสำหรับแผ่นบอร์ดจากเศษผ้า” กับบริษัท สามพิม จำกัด พร้อมกันนี้ ทางบริษัท สามพิม จำกัด และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนาม “สัญญารับทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรม เรื่อง “การวิจัย กาวน้ำยางแข็งตัวและไฟลามช้าสำหรับแผ่นบอร์ดจากเศษผ้า”ซึ่งในการลงนามบันทึกข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย เรื่อง “กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางธรรมชาติ ฟีนอลิก เรซิน และกัมโรซินและกรรมวิธีการผลิต” เลขที่อนุสิทธิบัตร 10454 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้ให้สิทธิบริษัท สามพิม จำกัด และทางบริษัทยังได้สนับสนุนทุนการวิจัยเพื่อต่อยอดและพัฒนาผลงานวิจัยชิ้นใหม่ คือ “การวิจัยกาวน้ำยางแข็งตัวและไฟลามช้าสำหรับแผ่นบอร์ดจากเศษผ้า” และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญโดยได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรม เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะการใช้น้ำยางพาราให้ใช้ประโยชน์ได้จริง และต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นการสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยเฉพาะผลงานวิจัยที่ได้นำน้ำยางพาราของประเทศไทยไปแปรรูปและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราของประเทศไทยให้มีราคาที่สูงขึ้น และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสารธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และนวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไปในอนาคตด้วย

ดร.วีรศักดิ์ สมิทธพงศ์ นักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยและคณะ ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยเรื่อง “กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางธรรมชาติ,ฟินอลิก เรซิน และกัมโรซินและกรรมวิธีการผลิต” ซึ่งได้รับอนุสิทธิบัตร 10454 (12 ธันวาคม 2557) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางพาราจากธรรมชาติของประเทศไทย ซึ่งมีคุณสมบัติการติดที่ดี มีความเหนียว มีคุณภาพคงที่ ไม่มีตัวทำลายอินทรีย์ สามารถใช้ติดระหว่างผ้ากับผ้า ผ้ากับยาง และระหว่างวัสดุประเภทอื่นๆ ได้ดี เช่น จำพวกกระเป๋า พื้นรองเท้าผ้าใบ ในการทำวิจัยได้ดำเนินการคัดเรซิน 2 ชนิดคือ ฟีนอลิก เรซิน และกัมโรซิน ซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงคุณสมบัติในกระบวนการผลิตให้ยางคอมพาวด์ไหลง่าย และทำให้สารตัวเติมผสมเข้ากับยางได้ดีขึ้น ผสมร่วมกับตัวทำละลายที่เป็นน้ำ ไม่ใช้ตัวทำลายอินทรีย์ที่มีพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ในการวิจัยได้นำเรซิน 2 ชนิดมาผสมกับน้ำยางธรรมชาติสามารถเพิ่มคุณสมบัติการติดของกาวในตัวละลายที่เป็นน้ำ โดยได้ทำการทดสอบ พบว่า มีคุณสมบัติการติดมากกว่ากาวน้ำที่มีเรซินชนิดเดียวในความเข้มข้นของเรซินเท่ากัน ทั้งนี้ ได้มีการทดสอบปริมาณของแข็ง (total solid content) ค่าความเป็น กรดด่าง (pH) ค่าความหนืด และประสิทธิภาพของแรงดึงเฉลี่ยจาก peel test 180 0 ระหว่างผ้ากับผ้าแล้ว ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับส่วนผสมกาวน้ำยางพาราที่เหมาะสม ให้สามารถมีความคงที่ ลดปัจจัยผลกระทบจากคุณภาพน้ำยาง โดยเพิ่มคุณสมบัติการติด เพื่อเพิ่มความเหนียวและความสามารถในการติดแน่น

จุดเด่นของผลงานวิจัย คือ การใช้น้ำยางพาราของประเทศไทย มาใช้ในการผลิตกาวโดยไม่ต้องนำเข้าพอลิเมอร์สังเคราะห์จากต่างประเทศ และไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษสูง เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ที่มีกลิ่นเหม็นรบกวน และมีอันตรายต่อสุขภาพ การใช้น้ำยางพาราในการผลิตกาว จะช่วยลดต้นทุนการผลิต เหนียวติดแน่น ไม่ติดไฟ และสามารถเชื่อมวัสดุที่มีรูพรุนเข้าด้วยกัน ทนต่อการบ่มเร่งได้ดี และเป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำยางพาราและเหมาะสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อส่งขายทั้ง ในและต่างประเทศ

ผลงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำบันทึกข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย “กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางธรรมชาติ, ฟีนอลิก เรซิน และกัมโรซินและกรรมวิธีการผลิต” เลขที่อนุสิทธิบัตร 10454 และลงนามต่อยอดและพัฒนาผลงานวิจัยดังกล่าวให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ เรื่อง “การวิจัยกาวน้ำยางแข็งตัวและไฟลามช้าสำหรับแผ่นบอร์ดจากเศษผ้า” กับบริษัท สามพิม จำกัด และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับบริษัท สามพิม จำกัด ลงนามในสัญญารับทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรม

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here