โดย ธนายุส บุญทอง และ นิลวรรณ ฟูเฟื่องสิน
ราคายางปี 2560 ประสบภาวะที่เรียกว่า “ต้นสูง ปลายต่ำ” คือ ราคายางช่วงต้นปีอยู่ในระดับสูงจากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้น และอุปทานยางที่ลดลงจากภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมคลี่คลายลง ผลผลิตยางออกสู่ตลาดมากขึ้นและสต็อกยางจีนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ราคายางปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ในช่วงปลายปี
สำหรับแนวโน้มราคายางปี 2561 คาดว่าครึ่งปีแรกปรับตัวสูงขึ้นได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2560 ที่ราคายางตกต่ำ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายางเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าราคายางอาจปรับตัวลดลงต่ำกว่าต้นปี จากปัจจัยด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ รวมถึงมาตรการภาครัฐบางส่วนที่จะสิ้นสุดลง
“ราคายางปี 2560 : ต้นสูง ปลายต่ำ”
สถานการณ์ยางปี 2560 เริ่มต้นปีด้วยราคาที่สูงต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2559 ซึ่งได้แรงส่งจากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และยอดขายรถยนต์ของประเทศจีนที่เติบโตดีต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคใต้ช่วงเดือนมกราคม 2560 ทำให้ปริมาณยางภาคใต้ลดลงถึงร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และนักลงทุนในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าเกิดความกังวลว่ายางจะขาดแคลน ส่งผลให้ราคายางเร่งตัวขึ้นมากทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 86.21 บาท/กก. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมคลี่คลายลง ราคายางได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปีที่มีผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 13.4 (ข้อมูล ณ กันยายน 2560) ประกอบกับจีนได้เร่งนำเข้ายางโดยได้แรงจูงใจจากราคายางที่อยู่ในระดับต่ำและไม่มั่นใจในสภาพอากาศและมาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้า โดยปริมาณส่งออกยางแปรรูปไปจีนครึ่งหลังปี 2560 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 31.8 เป็นผลให้สต็อกยางจีนโดยเฉพาะที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนตุลาคม (รูปที่ 1) และกดดันให้ราคายางลดลงต่ำสุดในรอบ 21 เดือน อยู่ที่ระดับ 43.45 บาท/กก. ในเดือนพฤศจิกายน หรือลดลงจากราคา ณ ระดับสูงสุดช่วงต้นปีถึงร้อยละ 49.6 (รูปที่ 2)
“แนวโน้มราคายางปี 2561: ต้นไม่สูง ปลายอาจต่ำ”
ราคายางต้นปี 2561 อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้บ้างเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2560 ที่ราคาตกต่ำ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐเป็นสำคัญ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ดังนี้
– มาตรการภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายาง: ช่วงปลายปี 2560 รัฐบาลได้ออกนโยบายแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ ในปี 2561 ได้แก่ (1) มาตรการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ (2) มาตรการควบคุมปริมาณผลผลิตโดยการลดพื้นที่ปลูกยางถาวร 2 แสนไร่ หยุดกรีดในพื้นที่รัฐ 1.2 แสนไร่ และส่งเสริมให้เกษตรกรชะลอกรีด 2 แสนไร่ และ (3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับอินโดนีเซียและมาเลเซียในการจำกัดการส่งออก ทั้งนี้ หากมาตรการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย คาดว่าจะทำให้ผลผลิตยางหายไปจากตลาด 600,000 ตัน ในปี 2561
– ผลผลิตยางลดลงเนื่องจากเข้าสู่ฤดูปิดกรีด: ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปีจะเข้าสู่ฤดูปิดกรีดยางซึ่งผลผลิตยางของไทยจะลดลงจากช่วงปกติถึงร้อยละ 80
– อุปสงค์ยางที่ยังดี: โดยเฉพาะอุปสงค์ยางจากจีนและมาเลเซียเพื่อผลิตยางล้อและถุงมือยางตามการเติบโตของยอดขายรถยนต์ของประเทศจีนและยอดขายถุงมือยางที่ยังดี โดยเฉพาะไตรมาสแรกของปีตามปัจจัยฤดูกาล นอกจากนี้ปริมาณการส่งออกอาจจะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จากการซื้อเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านสภาพอากาศ
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยสนับสนุนข้างต้น แต่ประเมินราคายางครึ่งแรกปี 2561 อาจปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ที่ราคายางตกต่ำ ได้ไม่มากนัก เนื่องจากผู้ใช้ยางจากจีนมีการวางแผนรองรับความไม่แน่นอน
ด้านวัตถุดิบไว้แล้วจากการเร่งซื้อยางต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้การป้อนยางเข้าสู่ภาคการผลิตเกิดความราบรื่นและต่อเนื่อง (Smoothing Consumption)สอดคล้องกับแนวโน้มราคายางในตลาดล่วงหน้าโตเกียว (Tokyo Commodity Exchange; TOCOM) มองไป 5 เดือนข้างหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียงกรอบแคบๆ เฉลี่ยอยู่ในช่วง 204 – 209 เยน/กก. (ราคาเฉลี่ย ณ ไตรมาส 4 ปี 2560 เท่ากับ 193.83 เยน/กก.) ขณะเดียวกัน The Economist Intelligence Unit (EIU) ได้ประมาณการราคายางแผ่นรมควันของไทยเพิ่มขึ้นเพียงกรอบแคบๆ เช่นกัน เฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.45 – 1.55 ดอลลาร์/กก. (ราคาเฉลี่ย ณ ไตรมาส 4 ปี 2560 เท่ากับ 1.35 ดอลลาร์/กก.)
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ประเมินว่าราคายางอาจปรับตัวลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี จากปัจจัยด้านอุปทานยางที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ จากพื้นที่ยางใหม่ที่ทยอยกรีดได้เพิ่มเติมจากที่ได้มีการเร่งปลูกในช่วงปี 2554 – 2555รวมถึงมาตรการภาครัฐบางส่วนที่จะสิ้นสุดลง เช่น มาตรการหยุดกรีดในพื้นที่รัฐและมาตรการจำกัดการส่งออกซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2561 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ ซึ่งสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2561อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจทำให้ราคายางมีความผันผวนได้ในระยะข้างหน้า ทั้งประเด็นความไม่แน่นอนด้านสภาพอากาศ มาตรการของภาครัฐเพิ่มเติม นโยบายและมาตรการทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงกระแสการเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่อาจจะมากขึ้น เป็นต้น