การยางแห่งประเทศไทย กยท. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เดินหน้าโครงการจัดทำแผนที่ และตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศ เพื่อจัดทำข้อมูลพื้นที่ปลูกยางให้เป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกัน ต่อยอดข้อมูลสู่โครงการต่างๆ ในอนาคต
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. เป็นองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบครบวงจร ซึ่งการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบนั้นจำเป็น ต้องเข้าถึงข้อมูลปริมาณพื้นที่ปลูกยางพาราในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การคาดการปริมาณผลผลิตยางพาราที่จะออกสู่ตลาด การวางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบยาง และการนำข้อมูลพื้นที่ปลูกยางสู่การต่อยอดในโครงการต่างๆ ในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศอยู่หลายหน่วยงาน โดยแต่ละหน่วยงานนั้นมีข้อมูลตัวเลขพื้นที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีวิธีการดำเนินการในการสำรวจพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นโครงการใช้ดาวเทียมในการสำรวจพื้นที่ปลูกยาง จะเป็นการร่วมมือของหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม และผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูลพื้นที่ปลูกยางที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และง่ายต่อการบริหารจัดการในอนาคต
ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการสำรวจข้อมูลภูมิสารสนเทศ จะเข้ามามีส่วนช่วยในการสำรวจข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศ ด้วยดาวเทียม โดยร่วมกับ กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่ปลูกยางจากพื้นที่ตัวอย่าง จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 จุด กระจายตามสัดส่วนของพื้นที่ปลูกยางพาราในแนวเขตที่ดินของรัฐ ได้แก่ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ จำนวนไม่น้อยกว่า 850 จุด พื้นที่เขตป่าสงวน อ.อ.ป. ส.ป.ก. จำนวนไม่น้อยกว่า 9,300 จุด และพื้นที่อื่นๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 9,850 จุด และมีการจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจในพื้นที่จำนวน 5 ครั้ง
“การร่วมมือกันระหว่าง กยท. จิสด้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาใช้เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมที่มีความแม่นยำ เพื่อให้ได้ชุดข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราที่ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้เป็นข้อมูลในการสำรวจพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ที่เหมาะสม การตรวจอายุยาง อายุไม้ยาง การคาดการจำนวนผลผลิต ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ของรัฐ ในการช่วยให้ราคายางมีเสถียรภาพ และส่งผลดีต่อทุกภาคส่วนในแวดวงยางพาราในอนาคต” ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย