การยางแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมราชทัณฑ์ ลงนามความร่วมมือโครงการ การจัดการศึกษาและพัฒนาอาชีพเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำ ร่วมให้โอกาสด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. มีหน้าที่ในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ สร้างเสถียรภาพทางรายได้ในธุรกิจยางพารา ซึ่งที่ผ่านมา กยท.ได้ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และมีการจัดอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้แก่ เกษตรกร/กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการแปรรูปยางพารามาอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้ได้ขยายผลเป็นความร่วมมือในโครงการ “การจัดการศึกษาและพัฒนาอาชีพด้านอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำ”ระหว่าง 3 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และกรมราชทัณฑ์ โดย กยท. ให้การสนับสนุนในด้านการจัดหาน้ำยางสดที่มีคุณภาพจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งจัดหาบุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ในการฝึกอาชีพ และเบื้องต้นจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำที่นอนยางพาราให้แก่ผู้ต้องขัง ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมราชทัณฑ์ และนักศึกษา ระดับ ปวช. และ ปวส. ที่มีความสนใจเข้าร่วมหลักสูตรการฝึกอบรมนี้
พันตำรวจเอก ดร.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์เล็งเห็นความสำคัญในด้านการศึกษาและส่งเสริมพัฒนาอาชีพด้านยางพาราให้กับผู้ต้องขัง ให้สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษ ตลอดจนลดการกระทำผิดซ้ำและกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข พร้อมกันนี้กรมราชทัณฑ์ยังได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (Care: Center For Assistance to Reintegration and employment) เพื่อช่วยเหลือ หางานให้ผู้ต้องขังหลังพ้นโทษและเป็นไปตามภารกิจหลักของกรมราชทัณฑ์และนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมมือแก้ไข ฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมในการคืนคนดี มีคุณค่า ได้อย่างแท้จริง
ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และส่งเสริมการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ สอศ.ได้จัดการเรียนการสอนทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น และระบบทวิภาคี จะทำหน้าที่ สนับสนุนสื่อการเรียนการสอน ฝึกสอนอาชีพดูแลจนผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำมาประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาหลักสูตร ส่งเสริมอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำ