การยางแห่งประเทศไทย เผยตัวเลขปริมาณการส่งออกยางของประเทศไทย ภายใต้มาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพารา ในเดือน ม.ค. – มี.ค. 61 ลดลงจากปีก่อน 274,056 ตัน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เผยว่า จากความร่วมมือในการแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางที่ผิดปกติและมีความผันผวน ร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ภายใต้มาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพารา (AETS) โดยร่วมกำหนดโควตาการส่งออกยางพาราทั้ง 3 ประเทศ ในระยะ 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม – มีนาคม 2561 ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมาย คือ ลดปริมาณส่งออกยางพาราร่วมกัน 3 ประเทศ ให้น้อยลง 350,000 ตัน จากปริมาณการส่งออกยางเฉลี่ยของปี 2559 และ 2560 ในช่วงเวลาเดียวกัน (มกราคม – มีนาคม) เพื่อเป็นการลดปริมาณผลผลิตยางในตลาดลง
“ในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินการตามมาตรการ AETS มาตลอดระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ตั้งแต่มีการประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออก พ.ศ. 2561 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561 โดยต้องรับผิดชอบการลดปริมาณการส่งออกยาง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม จำนวน 234,810 ตัน ซึ่งประเทศไทยสามารถลดปริมาณการส่งออกยางทั้ง 3 ชนิดได้มากกว่าเป้าที่กำหนดไว้ ตามข้อมูลใบผ่านด่านของกรมวิชาการเกษตร พบว่า สามารถลดการส่งออกยางได้ถึง 274,056 ตัน เมื่อเทียบกับปริมาณส่งออกยางเฉลี่ยปี 2559 และ 2560 ในช่วงเวลาเดียวกัน”