การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดเวทีประกวดโครงงานวิจัยด้านยางพาราระดับมัธยมและอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2561 ณ ห้องกันตัง กยท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ มีสถานศึกษาส่งผลงานวิจัยเข้าร่วม ทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จำนวน 15 ชิ้นงาน ผลปรากฏว่าทีมนักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพเวียงสระและวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานเปิดงานประกวดโครงงานวิจัยด้านยางพาราระดับมัธยมและอาชีวศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า การประกวดโครงงานวิจัยด้านยางพาราระดับมัธยมศึกษาอาชีวศึกษาปีงบประมาณ 2561 ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรของ กยท. โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยและพัฒนายางพารา เพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสนับสนุนผลงานวิจัยให้นำไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งถ่ายทอดและผลิตในเชิงพาณิชย์ โครงการนี้จะเป็นโครงการสนับสนุนงานวิจัยดีเด่นด้านยางพาราระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาและผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตลอดจนได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางโครงการยางพาราในด้านต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงวิชาการสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดหรือส่งผลกระทบที่ดีต่อเกษตรกรและธุรกิจด้านยางพารา อีกทั้งจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนนักศึกษาและคณาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่านได้มีแนวคิดใหม่ๆ ทางด้านยางพาราและสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่อุตสาหกรรมยางพาราต่อไปได้ในอนาคต

ด้าน นายพิเชฏฐ์ พร้อมมูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านยางพารา โดยมีสถาบันวิจัยยางรับผิดชอบดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำแผนบริหารงานวิจัยค้นคว้าและพัฒนาการผลิตยาง ให้บริการวิชาการและเทคโนโลยีแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง รวมถึงประสานความร่วมมือด้านวิจัยยางพารากับองค์กรระหว่างประเทศ การสนับสนุนโครงการและผลงานวิจัยดีเด่นด้านยางพาราระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย มุ่งเป้าเพื่อให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านวิจัยและพัฒนายางพารา โดยผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีองค์ความรู้ด้านยางพาราและนวัตกรรม ตลอดจนเข้าใจถึงบริบทของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงงานวิจัยใหม่ทางด้านยางพาราที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ขณะที่ ดร.วิทยา พรหมมี นักวิชาการเกษตร 8 หัวหน้ากองวิจัยและพัฒนาการผลิตยาง สถาบันวิจัยยาง กล่าวเสริมว่า การจัดประกวดในโครงการนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทระดับต้นน้ำและกลางน้ำ คือผลงานวิจัยที่เป็นการพัฒนายางในระบบตั้งแต่การจัดการสวนยางจนกระทั่งการแปรรูปยางขั้นต้น โดยทีมนักศึกษาจาก วิทยาลัยการอาชีพเวียงสระส่งผลงาน เครื่องพันลวดเกือกม้าสำหรับรองรับถ้วยน้ำยางพาราแบบต่อเนื่อง ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร ส่งผลงาน เครื่องหยอดน้ำกรด ” Smart Drip machine 001″ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานีส่งผลงาน ผลของน้ำหมักเปลือกพืชท้องถิ่นปักษ์ใต้ต่อการลดปริมาณเชื้อราบนยางแผ่นดิบ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และ วิทยาลัยเทคโนโลยีนครหาดใหญ่ส่งผลงาน แผ่นยางนวดเท้ากดจุด ได้รับรางวัลชมเชย

สำหรับประเภทระดับปลายน้ำ คือการแปรรูปยางให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือวัสดุอื่น ทีมนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษส่งผลงาน การศึกษาสมบัติของวัสดุคอมโพสิตระหว่างยางธรรมชาติกับเศษขี้กบไม้ตีนเป็ด ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 วิทยาลัยเทคนิคตรัง ส่งผลงาน การศึกษาปริมาณที่เหมาะสมของทางปาล์มที่ใช้เป็นสารตัวเติมต่อการทำแผ่นพื้นยางพารา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 วิทยาลัยเทคนิค จะนะ ส่งผลงานกระถางแฟนซีจากน้ำยางพารา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 วิทยาลัยเทคนิคตรัง ส่งผลงาน การศึกษาขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่เหมาะสมต่อการทำอิฐบล็อกตัวหนอนจากน้ำยางธรรมชาติ การศึกษาปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตที่เหมาะสมต่อการทำกรวยอัจฉริยะจากยางพารา และ การศึกษาปริมาณซิลิกาที่เหมาะสมต่อการทำดอกไม้จากเยื่อกระดาษเคลือบน้ำยางพารา และโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย สตูล ส่งผลงาน เบาะโฟมยางพาราปลดปล่อยช้า เพื่อประยุกต์ใช้ในการบำบัด โดยได้รับรางวัลชมเชย ตามลำดับ

การจัดโครงการวิจัยด้านยางพาราระดับมัธยมและอาชีวศึกษา ของ กยท. ในครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้น้องๆ นักศึกษาที่มีความสามารถ โดยเฉพาะน้องๆ อาชีวะ คิดค้นงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งในอนาคต เครื่องมือหรืองานวิจัยเหล่านี้ จะสามารถต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดได้

ติดตามข่าวสารข้อมูลยางและพลาสติก เพิ่มเติมที่ www.rubberplasmedia.com, www.rubbmag.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here