เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย กยท. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ การเสริมสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่การผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทยให้เข้มแข็งด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สหกรณ์ตราดยางพารา จำกัด GIZ, FSC และ PEFC นำระบบสารสนเทศ (ICT) ประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้สอดรับมาตรฐาน FSC, PEFC
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ในฐานะประธานการจัดประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้มีแนวทางในการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางของ กยท. พัฒนาสวนยางให้เข้าสู่ระบบการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรฐานการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมี 2 มาตรฐานหลักๆ ได้แก่ FSC, PEFC โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกออกประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมาตรฐานเลขที่ มอก. 14061 ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองในระดับประเทศ
ทั้งนี้ กยท. ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการปรับรูปแบบแนวทางการปฏิบัติของ กยท. ให้สอดรับกับมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สมอ. ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวสามารถนำไปเทียบเคียงกับมาตรฐาน FSC, PEFC ได้ในอนาคต โดย กยท. จะผลักดันให้สวนยางพาราของ กยท. ได้รับมาตรฐานดังกล่าวทั่วประเทศ
ด้าน นางพจมาน วงษ์สง่า Senior Regional Manager ASEAN Sustainable Agrifood Systems (ASEAN SAS) ผู้แทนจาก GIZ (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน) กล่าวว่า ปัจจุบันทาง GIZ จะเป็นองค์กรกลางที่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน ในการประสานระหว่างภาครัฐ เอกชน รวมถึงเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตรอยู่จำนวนทั้งสิ้น 9 โครงการ โดยการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร
โอกาสนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ทาง GIZ ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยเปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยน หารือแนวทางต่างๆ ร่วมกัน เพื่อจะนำเทคโนโลยี ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อการ พัฒนาสวนยางพาราของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานตามที่ตั้งเป้าไว้ และเป็นการส่งเสริมเพิ่มมูลค่าของยางพารา ซึ่งหลังจากการประชุมในครั้งนี้ คาดจะมีแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อนำไปต่อยอดต่อโครงการต่างๆ ในอนาคต