เมื่อเร็วๆนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ณ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาฝีมือช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้มีความชำนาญ ผ่านการฝึกอบรมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครั้งแรกในประเทศไทย
นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า “ในปี 2562 พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายเร่งด่วนมอบหมายให้ กพร.ดำเนินการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) และพัฒนาทักษะฝีมือให้มีมาตรฐานรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)พร้อมกำชับให้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ในการผลิตกำลังคนในสาขาอาชีพที่ยังขาดแคลน กพร. จึงร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) พัฒนาช่างเทคนิคให้มีความชำนาญในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Job)”
“กพร. จะได้รับการสนับสนุนจาก GIZ ในแง่การถ่ายทอดความรู้ให้กับช่างเทคนิคเรื่องการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ถูกต้อง การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการฝึกอบรม รวมทั้งการส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีมาให้ความรู้ในการฝึกอบรมให้แก่ครูฝึกของ กพร. เพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการและช่างชุมชน คาดว่าจะเริ่มฝึกอบรมภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ตั้งเป้าฝึกอบรมครูฝึกจำนวน 48 คนทั่วประเทศ และคาดว่าจะขยายผลการอบรมแก่ช่างเทคนิคร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ให้ได้อีก 2,000 คนใน 2 ปี” นางถวิล กล่าวเสริม
ด้าน มร.ฟิลิปป์ พิชเกอะ ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ของ GIZ กล่าวว่า “ความร่วมมือกับ กพร. เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของโครงการ RAC NAMA ที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานไทยในสาขาเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้มีความชำนาญและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานและหลักสูตรการฝึกอบรมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนการจัดฝึกอบรมนำร่องให้กับครูฝึกความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป คือ การให้ความรู้และฝึกทักษะการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติอย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (เช่น มาตรวัดน้ำยาแอร์ ปั๊มสุญญากาศ) สัญลักษณ์ความปลอดภัย วิธีการเติมและดูดกลับสารทำความเย็น เป็นต้น นอกจากนี้โครงการฯ ได้จัดตั้งกองทุน RAC NAMA ประเทศไทย ซึ่งบริหารโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจะจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าว เพื่อใช้จัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับฝึกอบรมแก่ศูนย์ฝึกที่ผ่านการคัดเลือก เรามุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยให้มีความเป็นเลิศและเป็นไปตามมาตรฐานสากล”
สำหรับโครงการ RAC NAMA มีจุดประสงค์หลักในการสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ โครงการจะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น โดยโครงการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและรัฐบาลสหราชอาณาจักรผ่านกองทุน NAMA Facility