กนอ. รุดหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว เฟส 2 คืบหน้ากว่า 80 % พร้อมรับการลงทุนในเชิงพาณิชย์ ธ.ค.นี้ นักลงทุนไทย-เทศ 4 ราย จ่อเข้าพื้นที่สร้างคลังสินค้า นำเข้าส่งออกและค้าปลีก พร้อมเชื่อมโยงการค้า-ลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ กนอ.ได้เปิดดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้วในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จังหวัดสระแก้ว บนพื้นที่ 660 ไร่ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ อย่างเป็นทางการ มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสนใจพื้นที่นิคมฯสระแก้วมาโดยตลอด เนื่องจากมีศักยภาพรองรับการผลิตและการกระจายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ในเฟสแรกได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และมีผู้ประกอบการเข้าใช้พื้นที่เต็มจำนวน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาในเฟสที่ 2 มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในราวเดือนมีนาคม 2562 และให้นักลงทุนเข้ามาใช้บริการได้ในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่เฟสที่ 2 จะเป็นในส่วนที่เหลือทั้งหมด ประกอบด้วย เขตพาณิชยกรรม เขตประกอบการทั่วไป เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อหน่วงน้ำ และไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กัมพูชา และ อินเดีย รวมจำนวน 4 ราย สนใจเช่าพื้นที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อประกอบกิจการประเภท นำเข้า-ส่งออกเสื้อผ้าใช้แล้ว (เสื้อผ้ามือ 2) คลังสินค้า และกิจการร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
สำหรับพื้นที่ที่ได้ดำเนินการแล้วในเฟสที่ 1 ประกอบด้วย โรงงานมาตรฐาน 3 หลัง แบ่งเป็น ขนาด 1,000 ตารางเมตร จำนวน 1 หลัง และ ขนาด 500 ตารางเมตร จำนวน 2 หลัง สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และลานประชารัฐซึ่งเป็นอาคารจำหน่ายสินค้า ขนาด 25 ตารางเมตร จำนวน 4 หลัง (20 unit) สำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยมีผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม นำเข้า-ส่งออก คลังสินค้าและอุตสาหกรรมทำน้ำยาทำความสะอาด เข้าใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นิคมฯสระแก้ว ยังเป็นพื้นที่ศักยภาพที่ใกล้ด่านชายแดนอรัญประเทศ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมต่อกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาสูงและมีทิศทางเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งระบบการคมนาคม โลจิสติคส์ที่ดี ทำให้การนำเข้าและส่งออกเป็นไปด้วยความสะดวก นอกจากนั้นอรัญประเทศยังมีทำเลที่เหมาะสมตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบับ และกรุงเทพฯ ทำให้เหมาะที่จะเป็นช่องทางการค้าและขนส่งสินค้าไปยังกรุงพนมเปญและเวียดนามตอนใต้ได้อีกทางอีกด้วย
“พื้นที่นิคมฯสระแก้ว นับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตในประเทศ และเป็นประตูการค้า การลงทุนและ ส่งออกในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(GMS) ประกอบด้วย กัมพูชา จีน ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของการค้าชายแดนได้มากยิ่งขึ้น ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพที่จะรองรับการขยายตัวกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมต่อเนื่องในกลุ่มคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงขีดความสามารถในการเป็นศูนย์กลางกระจายขนส่งสินค้าให้กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่EEC” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว