สสว. เร่งสร้างศักยภาพผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เปิดโครงการ SME Regular Level ปี 2562 มุ่งต่อยอดผู้ประกอบการให้เข้าถึงมาตรฐานระดับสากล เตรียมสนับสนุนคูปองทำฉลากโภชนาการและคูปองตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมการตลาดต่างประเทศเพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ในระดับสากลพร้อมจับมือหน่วยงาน 11 แห่ง ตั้งเป้าสานต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME โดยแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการการใหม่ (SME Startup) กลุ่มผู้ประกอบการระยะพลิกฟื้นกิจการ (Turn around) และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ (SME Strong/Regular) ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการ Strong/Regular ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีกว่า 600,000 ราย และในจำนวนนี้ มีจำนวนถึง 400,000 ราย ที่มีสถานะทางบัญชีปกติ
ดังนั้น สสว. จึงเน้นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่ม Strong/Regular โดยได้เริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) มาตั้งแต่ปี 2559 และจากการเข้าไปดำเนินโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้จากการเข้าร่วมอบรมเฉพาะด้าน 30,000 ราย และได้รับการพัฒนาเชิงลึกเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในด้านต่าง ๆ 10,000 กิจการ อาทิ ลดต้นทุนจากกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ 5,200 กิจการ มีพี่เลี้ยงในการจัดทำบัญชีสำหรับ SMEs 1,200 กิจการ ได้รับการสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อประกอบการออกใบรับรองมาตรฐาน 3,500 กิจการ และนอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดให้ผู้ประกอบการได้รับใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เช่น ISO, GMP, อย. อีกจำนวน 200 กิจการ ซึ่งจากการพัฒนาดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน เป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท
ผอ.สสว. เผยอีกว่า ด้วยเหตุนี้ในปี 2562 สสว. จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) โดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ประกอบการ ได้รับความรู้ในการดำเนินธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 9,550 ราย และผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 2,850 กิจการ จะได้รับการพัฒนาเชิงลึก โดย การสนับสนุนการเข้าถึงระบบมาตรฐานโดยการต่อยอดเพื่อให้ได้รับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากลมากขึ้น การสนับสนุนคูปองการจัดทำฉลากโภชนาการ คูปองการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและสอบเทียบเครื่องมือวัด การสนับสนุนกิจกรรมตลาดต่างประเทศเพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่มีศักยภาพนี้ก้าวไปสู่สากล โดยการพัฒนาจะมุ่งเน้นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ อาทิ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม กลุ่มสปาและบริการเพื่อสุขภาพ กลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป กลุ่มธุรกิจต่อเนื่องจากโลหะ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ และกลุ่มที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจนอกจากนี้ สสว. ยังให้ความสำคัญในเรื่องบัญชีเดียว และการพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการทางบัญชี (Service Provider) ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่เป็นมาตรฐานอีกด้วย
จากแนวทางการพัฒนาดังกล่าวข้างต้น สสว. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรอีกจำนวน 11 หน่วยงาน เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ สถาบันอาหาร สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมสำนักงานบัญชีไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
นายสุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ความตั้งใจในปีนี้ของ สสว. นอกจากมุ่งหวังที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ยกระดับด้านมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งสร้างรายได้หรือสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว สิ่งสำคัญที่ สสว. ต้องการจะผลักดันเพื่อส่งต่อการพัฒนาไปสู่การดำเนินโครงการในอนาคต คือ การพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ให้ก้าวสู่การแข่งขันในระดับสากล และมุ่งเน้นไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาในผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ECC) โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องการการยกระดับมาตรฐานให้เป็นมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น
“ปีนี้ สสว. จึงเริ่มนำร่องโดยพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มบริการเพื่อสุขภาพ โดยการศึกษาข้อมูล ในทุกมิติ และเตรียมการพัฒนาในเชิงลึกเฉพาะด้าน ซึ่งแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะนำมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาผู้ประกอบการในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นการยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการในโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ให้ก้าวไปสู่การแข่งขันได้ในระดับสากล และเหมาะสมกับสภาวการณ์ของโลกได้อย่างแท้จริง” นายสุวรรณชัย กล่าวในที่สุด