โดย: ดร. ธนพล ศรีธัญพงศ์ และ ชินโชติ เถรปัญญาภรณ์ ศูนย์วิจัย EIC
รัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดิมที่อัตรา 10% ตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 25% เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2019 หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ข้อความขู่ขึ้นภาษีนำเข้าในวันที่ 5 พฤษภาคม 2019 สืบเนื่องมาจากการเจรจาข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร หลังจากที่สหรัฐฯ ได้เลื่อนการขึ้นภาษีอย่างไม่มีกำหนดจากกำหนดการเดิมในวันที่ 2 มีนาคม 2019 ทำให้ต่อมาทางการจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดิมที่อัตรา 5-10% เพิ่มเป็น 5-25% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เพื่อตอบโต้มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งค่อนข้างสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินโลกถึงการปะทุขึ้นอีกครั้งของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งก่อนหน้าเพียงไม่กี่สัปดาห์มีแนวโน้มที่ทั้งสองฝ่ายกำลังจะได้ข้อตกลงทางการค้า
การเจรจาข้อตกลง มีความล่าช้าและสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าจีนกลับลำข้อตกลงในหลายประเด็นทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อกดดันจีน สาเหตุที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีในรอบนี้มี 3 ประการหลัก ได้แก่ 1) สหรัฐฯ กล่าวว่าจีนกลับลำแก้ไขข้อตกลงในร่างข้อเสนอที่มีจะผลผูกพันตามกฎหมายในประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ และจีนเจรจาลุล่วงแล้วในการประชุมครั้งก่อนหน้าใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี การอุดหนุนบริษัทและรัฐวิสาหกิจ การเปิดตลาดภาคบริการและการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเจรจา โดยจีนอ้างเหตุผลความยากลำบากในการแก้ข้อกฎหมายภายในของจีน 2) การเจรจาข้อตกลงระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในขณะนี้ไม่ได้มีเส้นตายในการปฏิรูปที่ชัดเจน รวมถึงการแก้ไขกฎหมายจีนให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างล่าช้าและเต็มไปด้วยข้อจำกัดจากฝั่งจีนในมุมมองของทางการสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ไม่สามารถยอมรับได้ และ 3) ภาษีสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่อัตรา 10% เดิมตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่าจีนต้องทำตามข้อเรียกร้องการปฏิรูปของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากทางการสหรัฐฯ พิจารณาแล้วว่าจีนไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ สหรัฐฯ มีสิทธิเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นเป็น 25% ได้ภายใต้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ตามกำหนดการเดิม จากเหตุผลข้างต้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอย่างกะทันหันและมองว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้ใช้เพื่อเป็นกลยุทธ์บังคับให้จีนบรรลุข้อตกลงตามที่สหรัฐฯ เรียกร้องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน จีนให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ควรสร้างหลักประกันให้จีนเชื่อมั่นก่อนที่จะให้จีนทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯโดยทางการจีนให้เหตุผลว่าข้อตกลงการค้ายังไม่สามารถได้ข้อสรุปเนื่องจาก 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) สหรัฐฯ ไม่มีหลักประกันที่ทำให้จีนเชื่อมั่นได้ว่าภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนจะถูกยกเลิกในอนาคต ซึ่งจีนมองว่าสหรัฐฯ ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้าที่ชัดเจนกับจีนก่อนที่จีนจะทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และ 2) จีนเรียกร้องข้อตกลงที่ยุติธรรมและคำนึงถึงเกียรติภูมิของทั้งสองชาติ โดยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายในจีนไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่ายและต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตามการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ สะท้อนว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับจีนและไม่รีบร้อนที่จะจบการเจรจาข้อตกลง โดยยังมีโอกาสกดดันจีนต่อไป หลังจากที่ในภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสแรกออกมาดีกว่าที่คาดการณ์
นัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีนและเศรษฐกิจโลก
สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 25% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทั้งกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนมากขึ้นโดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของจีนในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี สินค้าจีนจำนวนกว่า 5,745 รายการที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้ารอบนี้มีหมวดสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ เช่น อุปกรณ์โทรคมนาคม แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และยังมีหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญหลายรายการ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก กระเป๋าเดินทาง เป็นต้น ซึ่งในระยะสั้นภาษีนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตจีนและผู้นำเข้าของสหรัฐฯ โดยผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาที่สูงขึ้นและยังไม่สามารถหาตลาดอื่นทดแทนได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้นและอาจผลักภาระให้กับผู้บริโภคสหรัฐฯ บางส่วน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ การบริโภคและการลงทุนของสหรัฐฯ ขณะที่ ผู้ผลิตจีนจะเริ่มได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จากผลของราคา แต่ในระยะยาวหากสหรัฐฯ สามารถนำเข้าสินค้าจากตลาดอื่นทดแทนสินค้าจีนได้มากขึ้น ผลกระทบจะส่งผ่านสู่ผู้ผลิตจีนที่อาจเสียเปรียบการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกจีนได้รับผลกระทบต่อเนื่องทั้งในปีนี้และอนาคต นอกจากนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขู่ว่าสหรัฐฯ ยังสามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตรา 25% จากสินค้านำเข้าจากจีนส่วนที่เหลืออีกราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในระยะต่อไป (รูปที่ 1)
จับตาแนวโน้มการเจรจาและโอกาสที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนที่อัตรา 25% ในส่วนที่เหลืออีกราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ระบุว่า รายการสินค้าจีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีในรอบหน้าครอบคลุมจำนวนสินค้าถึง 3,805 รายการ ซึ่งรวมถึง โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าโอกาสการขึ้นภาษีในรายการสินค้าจีนในส่วนที่เหลือ สหรัฐฯ ต้องพิจารณาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. รายการสินค้าที่เหลือมีสัดส่วนสินค้าผู้บริโภคและสินค้าทุนมากกว่ารอบก่อนหน้า โดยการขึ้นภาษีรอบถัดไปจะมีสัดส่วนสินค้าผู้บริโภคและสินค้าทุนถึง 34% และ 48% ตามลำดับ (รูปที่ 2) จากมูลค่าสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีทั้งหมด 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบกับรอบก่อนหน้าที่มีสัดส่วนสินค้าขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีในรอบใหม่ ผู้บริโภคสหรัฐฯ ย่อมได้รับผลกระทบจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นและผู้ผลิตอาจต้องแบกรับต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น จากการประมาณการของ Federal Reserve Bank of San Francisco2 ได้ประเมินการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อต่อการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนทั้งหมดในอัตรา 25% จะส่งผลต่อดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้นราว 0.4 percentage points และดัชนีราคาการลงทุนทางธุรกิจของภาคเอกชนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นราว 1.4 percentage points (รูปที่ 3) อย่างไรก็ดีอีไอซีคาดว่า ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออาจจะยังไม่มีนัยต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทันที เนื่องจาก Fed ต้องประเมินสถานการณ์จากข้อมูลเศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงพิจารณาผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐฯ ที่อาจชะลอลงในระยะข้างหน้าหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนทั้งหมด
2. การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่เหลือทั้งหมดมีกระบวนการอย่างต่ำ 2-3 เดือนกว่าจะมีผลบังคับใช้ซึ่งอาจมีเสียงคัดค้านระหว่างทาง เนื่องจาก USTR ต้องทำประชาพิจารณ์ (public hearing) ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้3 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและประชาชนที่จะได้รับผลกระทบก่อนการประกาศใช้ ซึ่งอาจมีเสียงคัดค้านจากภาคเอกชนและมีนัยต่อคะแนนเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาว่าจะมีการตอบโต้จากทางการจีนจนทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ ด้วยสาเหตุข้างต้น อีไอซีจึงมองว่าโอกาสของการเก็บภาษีนำเข้ามูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐยังเป็นไปได้ต่ำ แต่หากสหรัฐฯ พิจารณาแล้วว่าการเจรจาไม่เกิดผลและทางการจีนมีทีท่าไม่ยินยอมต่อข้อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากสหรัฐฯ โอกาสของการที่จีนจะถูกเก็บภาษีทั้งหมดราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับผลของการเจรจาและต่อรองกันระหว่างสองฝ่ายในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีในสินค้านำเข้าส่วนที่เหลือของจีน อัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2019 เป็นอย่างเร็ว
จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในอัตรา 5-25% ส่วนใหญ่เป็นรายการสินค้ามูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเดิมโดยมีผลตั้งวันที่ 1 มิถุนายน จับตาจุดยืนของจีนและแนวโน้มการตอบโต้มาตรการกีดกันการค้าในระยะข้างหน้า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ทางการจีนประกาศรายการสินค้าที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จำนวน 5,142 รายการ เพื่อตอบโต้มาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ โดยแบ่งอัตราภาษีเป็น 4 ขั้น คือ 5% 10% 20% และ 25% ส่วนใหญ่เป็นรายการสินค้าที่เคยถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 5-10% ในสินค้ามูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อครั้งที่จีนตอบโต้การเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2018 แต่มีสินค้าบางรายการถูกตัดออกจากรายการสินค้าเมื่อเดือนกันยายน 2018 ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ (มูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายนนี้ ในระยะต่อไปหากการเจรจาไม่ประสบผลและสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดซึ่งเป็นกรณีร้ายแรงที่สุด จีนไม่อาจตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในจำนวนมากได้อีกต่อไปเพราะจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในปี 2018 แค่ราว 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสินค้าที่ยังไม่ได้ขึ้นภาษีอีกเพียง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น อีไอซีมองว่า ทางเลือกต่อไปของจีนต่อจากนี้จึงเป็นมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) 3 ทางเลือกในการตอบโต้ ได้แก่
1) ยื่นเรื่องฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพิ่มเติม ในกรณีที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีทั้งหมดกับจีน ซึ่งจีนมองว่าสหรัฐฯ อาจเข้าข่ายการละเมิดหลักการพื้นฐานของ WTO ที่ห้ามเลือกปฏิบัติในการตั้งกำแพงภาษีกีดกันสินค้าจีนทั้งหมด แต่ทางเลือกดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานและยืดเยื้อ ที่ผ่านมาจีนเคยยื่นฟ้องข้อพิพาททางการค้าหลายครั้งและครั้งล่าสุด คือ การยื่นฟ้องสหรัฐฯ เรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2018 และภาษีสินค้านำเข้าจีนที่สหรัฐฯ เรียกเก็บตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ซึ่งจีนมองว่าไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2018 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินการ
2) ชะลอการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือขายพันธบัตรที่ถืออยู่ เป็นมาตรการตอบโต้ทางอ้อมที่อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ปัจจุบันจีนเป็นผู้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อันดับหนึ่งโดยมีมูลค่าสูงราว 1.13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2018) หากจีนขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาจำนวนมากจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของสหรัฐฯ สูงขึ้น แต่จีนเองก็จะได้รับผลกระทบด้วยผ่านความผันผวนของราคาสินทรัพย์และค่าเงินในตลาดการเงินโลกจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในการตอบโต้สำหรับจีน
3) การจำกัดขอบเขตรวมถึงสร้างความยากลำบากต่อธุรกิจสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจในจีน รวมถึงลดจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ บริษัทและธุรกิจสหรัฐฯ ในหลายอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในจีนอาจตกอยู่ในภาวะลำบาก หากสถานการณ์สงครามการค้าตึงเครียดและเลวร้ายลงถึงขั้นที่จีนเริ่มใช้มาตรการกำจัดสิทธิ์ รวมไปถึงการรณรงค์ต่อต้านการเดินทางเข้าสหรัฐฯ จากทางการจีน นักท่องเที่ยวจีนซึ่งมียอดค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จในการท่องเที่ยวรวมมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจในสหรัฐฯ ได้ ดังที่เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกันกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาแล้วในอดีต ซึ่งหากจีนเลือกใช้มาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษีกับสหรัฐฯ เช่นนี้อาจยิ่งสร้างความร้าวฉานระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้น
อีไอซีมองว่า โอกาสที่จีนจะเลือกใช้มาตรการกีดกันสุดโต่งดังกล่าวมีความเป็นไปได้ต่ำ และทั้งสองประเทศยังมีแนวโน้มการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงทางการค้าร่วมกันต่อเนื่องถึงช่วงปลายปี 2019 เนื่องจากหากยังคงขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้กันย่อมส่งผลลบต่อทุกฝ่าย และทั้งคู่เริ่มเผชิญผลกระทบจากการใช้มาตรการกีดกันทางภาษีและสงครามการค้าที่ดำเนินมาเริ่มส่งผลเสียต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะที่สหรัฐฯ ก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะมีแนวโน้มลดความรุนแรงของสงครามการค้าเพื่อไม่ให้ผลกระทบของมาตรการทางภาษีลุกลามและเป็นภาระตกสู่ผู้ผลิตผู้บริโภคและเกษตรกรที่เป็นประชากรฐานเสียงของพรรครีพับรีกัน
บรรยากาศความไม่แน่นอนของภาวะการค้าการลงทุนเริ่มสูงขึ้น ทำให้ตลาดการเงินโลกตอบสนองในเชิงลบโดยเฉพาะตลาดจีน ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ข้อความขู่ขึ้นภาษีนำเข้าในวันที่ 5 พฤษภาคม ตลาดการเงินเกิดความผันผวนและกลับมาอยู่ในภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง (risk-off sentiment) จากความกังวลของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน โดยข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤษภาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (S&P 500) ปรับลดลงราว 2.8% และดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีน (CSI 300) ลดลงราว 6.42% ขณะที่ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) อ่อนค่า 0.05% และค่าเงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐ (USDCNY) อ่อนค่า 2.06% (รูปที่ 4) รวมถึงตลาดการเงินโลกในภาพรวมตอบสนองและยังมีปฏิกิริยาเชิงลบต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น หุ้นบริษัทสหรัฐฯ ที่มียอดขายในจีนสูงและหุ้นบริษัทจีนที่มียอดขายในสหรัฐฯ สูง เป็นต้น หากสงครามการค้ายังมีแนวโน้มบานปลายอาจส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้นเกินคาดจากการปรับฐานและการลดลงของราคาหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี เงินบาทไทยถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) สำหรับภูมิภาคเอเชียของนักลงทุนคล้ายกับเงินเยนญี่ปุ่น เนื่องจากฐานะทางการเงินไทยยังแข็งแกร่ง ทำให้เงินบาทตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมถึง 14 พฤษภาคมแข็งค่าขึ้น 1.23% อีไอซียังคงประเมินค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะกลางจนถึงช่วงสิ้นปีจะอยู่ในช่วง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังคงสูงในปี 2019 ที่ราว 6% ต่อ GDP อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ต่ำประมาณ 0.9% และเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง แม้จะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าเข้ามากระทบในบางช่วงก็ตาม
นัยต่อเศรษฐกิจไทย
สงครามการค้าที่กลับมาปะทุส่งผลลบต่อภาคการส่งออกไทยทางตรงผ่านห่วงโซ่อุปทานการค้าไทยจีนและทางอ้อมผ่านภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวหากเศรษฐกิจจีนและคู่ค้าชะลอลงมากกว่าที่คาด ซึ่งภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าผ่าน 2 ช่องทางนี้ ได้แก่ 1) ผลกระทบโดยตรงจากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานกับจีนในการผลิตสินค้าจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยหมวดสินค้าที่มีห่วงโซ่อุปทานกับจีนสูง ได้แก่ คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นมาตรการกีดกันทางการค้าในเดือนสิงหาคม 2018 จนถึงเดือนมีนาคม 2019 การส่งออกไทยไปจีนในหมวดดังกล่าวหดตัว 23.6% 30.6% 36.1% และ 75.9% ตามลำดับ และหากสงครามการค้ายืดเยื้อต่อเนื่องก็อาจจะไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากหมวดสินค้าดังกล่าว และหากพิจารณารายการสินค้าจีนมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25% กลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบสูงอยู่ในสินค้าขั้นต้นและขั้นกลาง ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ยางพารา และไม้ (รูปที่ 5) ซึ่งเบื้องต้นจากการประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2018 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานกับจีนใน 4 หมวดสินค้าหลักดังกล่าวมีสัดส่วนราว 2.1% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าผลกระทบราว 633.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2) ผลกระทบผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและคู่ค้าจากการชะลอของการบริโภคภายในของประเทศคู่ค้า เป็นผลให้การชะลอตัวของการส่งออกไทยมีทิศทางกระจายตัวมากขึ้น ทั้งในมิติของรายสินค้าและรายตลาดส่งออก เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย EU15 ASEAN5 ฯลฯ (รูปที่ 6) หากสหรัฐฯ และจีนยังไม่มีความคืบหน้าในข้อตกลงในระยะเวลาอันใกล้และเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปีฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลให้ตัวเลขมูลค่าการเติบโตของการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐอาจมีความเสี่ยงต่ำกว่าที่อีไอซีประเมินไว้ที่ 2.7% ในปี 2019 โดยเฉพาะหากข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ และจีนยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการยุติข้อพิพาทในอนาคตและสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมด จึงนับเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยที่ต้องพึ่งพาตลาดจีนที่ยังคงต้องเฝ้าติดตามความคืบหน้าการเจรจาสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด
จับตาสินค้าราคาถูกจากจีนที่อาจไหลทะลักเข้าไทย เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเหล็กกับเกือบทุกประเทศในอัตรา 25% ตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade expansion act of 1962) เพื่อป้องกันและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาสหรัฐฯ ได้เก็บภาษีนำเข้าเหล็กเพิ่มเติมอีกในอัตรา 10% ช่วงเดือนกันยายนปี 2018 และเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2019 เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในรายการสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สินค้าเหล็กของจีนเสียเปรียบการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และส่งผลให้การส่งออกเหล็กจีนไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าทางการจีนจะมีแผนเพิ่มการใช้เหล็กจากการก่อสร้างในการขยายโครงสร้างพื้นฐานภายในและมีแนวโน้มทยอยลดกำลังการผลิตเหล็กลงตามแผนการลดกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กและถ่านหิน แต่ในระยะสั้นยังคงคาดการณ์ว่ามีผลผลิตส่วนเกินที่จะทำให้ผู้ผลิตเหล็กจีนเปลี่ยนเป้าหมายการส่งออกไปสู่ประเทศที่ไม่มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่สินค้าเหล็กจากจีนมีแนวโน้มไหลเข้ามา โดยผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีโอกาสถูกทุ่มตลาดเนื่องจากไทยยังไม่มีมาตรการป้องกัน ได้แก่ เหล็กท่อนและเส้น (HS7215), เหล็กลวด (HS7217), สเตนเลส (HS7301), ท่อสเตนเลส (HS7304) และสปริงเหล็ก (HS7320) เป็นต้น ส่งผลให้ราคาเหล็กภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเหล็กโดยเฉพาะผู้ส่งออกและผู้ผลิตบางรายที่ไม่สามารถปรับตัวแข่งกับสินค้านำเข้าเนื่องจากไม่สามารถปรับลดภาระต้นทุนแข่งกับเหล็กนำเข้าจีนในราคาถูกได้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ไทยมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในผลิตภัณฑ์เหล็กบางรายการ ได้แก่ ท่อเหล็ก (HS7306) ซึ่งคาดว่าจะช่วยป้องกันการทุ่มตลาดในสินค้าเหล็กดังกล่าวได้
อีไอซีมองว่า สงครามการค้าจะส่งผลลบต่อการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ไทยอาจได้รับอานิสงค์จากการส่งออกทดแทนในตลาดจีนและสหรัฐฯ และได้ประโยชน์บางส่วนจากการนำเข้าสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการย้ายฐานการผลิตบางส่วนของจีนมายังไทย สินค้าบางหมวดอาจได้รับประโยชน์เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องหาตลาดนำเข้าทดแทน ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรพิมพ์ ฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากจีนแต่ความต้องการบริโภคสินค้ายังมีอยู่ ขณะเดียวกันไทยก็อาจสามารถส่งออกสินค้าบางส่วนไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป อาหารปรุงแต่ง เนื้อไก่ เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่ส่งออกทดแทนส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยครองสัดส่วนส่งออกในตลาดปลายทางที่ค่อนข้างสูงจึงมีศักยภาพในการส่งออกสูงเป็นทุนเดิม และเป็นโอกาสให้สินค้าเหล่านี้จะได้รับการพิจารณานำเข้าเพิ่มเติมจากทั้งสหรัฐฯ และจีนในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดีไทยยังคงต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่มีส่งออกสินค้าที่ใกล้เคียงกันด้วย เช่น เวียดนามและมาเลเซีย เป็นต้น ทำให้ผลบวกของสงครามการค้าในการส่งออกทดแทนมีจำกัด นอกจากนี้ด้านกลุ่มประเทศ ASEAN อาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน เนื่องจากบริษัทจีนมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน โดยอาจขยายกำลังการผลิตไปในประเทศอื่นเพื่อเลี่ยงมาตรการทางภาษี ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จีนอาจเข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เริ่มเห็นจำนวนเงินการลงทุนจากจีนที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นในปี 2018 โดยอุตสาหกรรมที่บริษัทจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดอยู่ในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง (รูปที่ 7) ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดสินค้าที่จีนได้รับผลกระทบสูงจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีผู้ผลิตจีนมีทางเลือกการย้ายฐานการผลิตไปยังหลายประเทศ ทำให้ไทยต้องแข่งขันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบของข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามทำไว้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) อีกทั้งเวียดนามมีระยะทางที่ใกล้จีนมากกว่า ค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่า และเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญหลายชนิด เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทำให้ผลบวกจากการย้ายฐานการผลิตจึงค่อนข้างจำกัดในบางรายการสินค้าที่ไทยได้เปรียบในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ในระยะต่อไป ผลกระทบต่อภาคการส่งออกจะมีมากขึ้นหากการเจรจาสหรัฐฯ-จีนไม่ประสบผล ผู้ประกอบการไทยควรเร่งกระจายตลาดส่งออก ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าของไทยในปัจจุบันเพื่อขยายตลาด รวมถึงป้องกันความผันผวนของค่าเงิน หากสหรัฐฯ กับจีนยังไม่สามารถหาบทสรุปของข้อตกลงการค้า และสงครามการค้าขยายวงกว้างโดยครอบคลุมสินค้านำเข้าทั้งหมดของทั้งจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ตามการประมาณการของ IMF ผลกระทบของสงครามการค้าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนในปี 2019 จะมีแนวโน้มชะลอลงราว 0.2% และ 1.16% ตามลำดับ4 ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐสำหรับปี 2019 มีความเสี่ยงต่ำกว่าที่อีไอซีประเมินไว้ที่ 2.7% ซึ่งยังต้องประเมินสถานการณ์ความคืบหน้าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนในระยะต่อไป สำหรับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยควรพิจารณากระจายความเสี่ยงโดยหาตลาดการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มเติบโตดี เช่น กลุ่มประเทศ CLMV และอินเดีย และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการที่ไทยมีกับหลายประเทศที่ปัจจุบันยังมีมูลค่าการค้าขายไม่สูงเท่าที่ควร เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี ฯลฯ รวมถึงการวางแผนกลยุทธ์ในการป้องกันความผันผวนของค่าเงิน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการรับจ่ายเงินในสกุลเงินหยวน เนื่องจากค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐมีความเสี่ยงอ่อนค่าต่อเนื่องหากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป