ถือเป็นข่าวดีในวงการอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราไทย เมื่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดตัวระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทย (TFCS) อย่างเป็นทางการ นับเป็นผู้ให้บริการด้านการออกใบรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่เทียบเท่ามาตรฐานสากล PEFC (The Programme for theEndorsement of Forest Certification) ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าสู่มาตรฐานการรับรองระดับโลก ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่าแสนล้านบาท พร้อมให้บริการออกใบรับรองตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป
โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก Mr.BenGunneberg CEO PEFC International ได้เดินทางมามอบใบประกาศนียบัตรการรับรองไม้ให้แก่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีผู้บริหารภาคเอกชนกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เข้าร่วมงาน อาทิ นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนไทย รายแรกที่เข้าร่วมการรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนระดับโลกด้วยมาตรฐาน PEFC พร้อมด้วยผู้บริหารจากบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC) สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของ PEFC (The Programme for the Endorsement of Forest Certification) ในฐานะหน่วยปกครองการรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้แห่งชาติ (National Governing Body – NGB) ในเดือนพฤศจิกายน 2559 สามารถผลักดันระบบการรับรองไม้เศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนและแหล่งที่มาถูกต้องตามกฎหมาย โดย TFCC ได้นำมาตรฐาน มอก. ที่ประกาศโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเทียบเคียงกับมาตรฐานของ PEFC และได้รับการเทียบเคียงมาตรฐานอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จากนี้ไปการดำเนินการจัดการสวนป่าของไทยจะเป็นที่ยอมรับตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจไม้และเข้าสู่ตลาดโลกได้” นายสุพันธุ์กล่าว
ด้าน นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) กล่าวว่า ระบบการรับรองการจัดการป่าไม้ของไทย (TFCS) สามารถให้การรับรองที่เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล อันประกอบไปด้วย มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน FM : Forest Management Standard (มอก. 14061) จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกร หรือผู้ปลูกสวนป่าไม้เศรษฐกิจ และมาตรฐานห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (มอก. 2861) รวมถึงการรับรอง PEFC Chain of Custody (PEFC ST 2002) จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจไม้แปรรูป, ไม้ยางพารา, ไม้เพื่อพลังงาน, ไม้ประกอบ, เฟอร์นิเจอร์, ของเล่นเด็ก และไม้เพื่อการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งการรับรองทั้ง 2 มาตรฐานนี้ จะช่วยยืนยันได้ว่า ไม้ต้นทางมาจากแหล่งใด เป็นไม้ที่ถูกต้อง ไม่ได้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้าต่างประเทศที่ต้องการมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ เปรียบเสมือนใบเบิกทางให้สามารถข้ามกำแพงการค้าไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ตลอดจนยุโรปได้ อันจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าไม้ได้กว่าแสนล้านบาท และนี่คือสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่ต้องมีมาตรฐานการรับรอง เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไม้ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังได้มีกิจกรรมร่วมขับเคลื่อนการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้ โครงการส่งเสริมการทำสวนยางพาราตามมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.), สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อเป็นการยืนยันความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่สวนยางพาราซึ่งเป็นสวนป่าไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างความมั่นคงให้เกษตรกรด้วยการรับรองมาตรฐาน มอก.14061 รวมทั้งการให้คำปรึกษาเพื่อการดำเนินการจาก สวทช. และดำเนินการจากหน่วยตรวจรับรอง ส่งต่อไม้ยางและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มายังผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยสภาอุตสาหกรรมร่วมจับคู่ธุรกิจจากป่าไม้สู่กลุ่มบริษัทต่างๆ ในพื้นที่เป้าหมายรวมไปถึงจัดการอบรมสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้เกี่ยวข้องในภาคป่าไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมหน่วยตรวจประเมินภายในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น