ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนสิงหาคม 2562 ข้าวเปลือก หอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว น้ำตาลทรายดิบ สุกร ยางพาราแผ่นดิบและมันสำปะหลัง มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ส่วนข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนสิงหาคม 2562 ที่จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. พบว่า สินค้าเกษตรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.89-8.61 อยู่ที่ราคา 16,098–16,828 บาท/ตัน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิลดลง ขณะที่ความต้องการจากต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และแคนาดา ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 4.90-5.91 อยู่ที่ราคา 12,548-12,668 บาท/ตัน เนื่องจากภาวะภัยแล้งอาจทำให้ผลผลิตข้าวเหนียวนาปีไม่เพียงพอต่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 5.00-9.00 อยู่ที่ราคา 12.16-12.63 เซนต์/ปอนด์ (8.33–8.65 บาท/กก.) ตามการเข้าซื้อของนักเก็งกำไรจากความกังวลว่าปริมาณผลผลิตอ้อยในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยของอินเดียที่จะเก็บเกี่ยวได้รับความเสียหายจากมรสุม ขณะที่ผลผลิตอ้อยของไทยในปีการผลิต 2562/63 มีแนวโน้มลดลงจากการภาวะภัยแล้งและการลดพื้นที่เพาะปลูกอ้อย สุกร คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50–1.50 อยู่ที่ราคา 71.50–72.50 บาท/กก. เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนยังมีความกังวลกับข่าวการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาดในไทย แม้กรมปศุสัตว์จะมีการแจ้งข้อมูลว่ายังไม่พบการระบาดในไทย จึงได้งดการเลี้ยงสุกรเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรในประเทศลดลง
ยางพาราแผ่นดิบ คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.47–2.25 อยู่ที่ราคา 46.97–47.33 บาท/กก. เนื่องจากมาตรการของภาครัฐที่มีบทบาทในการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ส่งผลให้ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐฯ ทำให้ราคาอาจปรับตัวลดลงได้ และมันสำปะหลัง คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60-3.03 อยู่ที่ราคา 1.66-1.70 บาท/กก. เนื่องจากคาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ ส่งผลต่อเชื้อแป้งในหัวมันสำปะหลังมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงงานมันสำปะหลังเริ่มกลับมาทยอยรับซื้อมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น หลังจากที่ลดการรับซื้อผลผลิตไปในช่วง 2 เดือนก่อนที่ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังลดลง
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% คาดว่า ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.25-0.80 อยู่ที่ราคา 7,636-7,679 บาท/ตัน เนื่องจากประเทศจีนระบายข้าวในสต็อกออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% คาดว่าราคาจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.00-2.50 อยู่ที่ราคา 7.61-7.73 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน จะเริ่มเก็บเกี่ยวและทยอยออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกบางส่วนได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอาจออกสู่ตลาดน้อยลง และราคาที่เกษตรกรขายอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ปาล์มน้ำมัน คาดว่าราคาจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 10.52–1.75 อยู่ที่ราคา 2.55 – 2.80 บาท/กก. เนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ยังคงมีจำนวนมาก ขณะที่ความต้องการใช้ของโรงงานสกัดทรงตัว ส่งผลให้โรงงานสกัดไม่สามารถรับซื้อผลผลิตเพิ่มได้ (ทั้งนี้ เป็นราคาที่คาดการณ์ก่อนนโยบายโครงการประกันราคาปาล์มน้ำมันของรัฐบาล) และกุ้งขาวแวนนาไม คาดว่า ราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.82 – 3.18 อยู่ที่ราคา 142.00 – 144.00 บาท/กก. เนื่องจากภาวะการค้าภายในประเทศและการส่งออกชะลอตัว ส่งผลให้ห้องเย็นชะลอการรับซื้อ ประกอบกับยังมีกุ้งอยู่ในสต็อกเพียงพอกับการแปรรูป ทำให้ความต้องการกุ้งขาวแวนนาไมในเดือนนี้ลดลง